สถานีคิดเลขที่ 12 : สามดรุณี โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : สามดรุณี

สถานีคิดเลขที่ 12 : สามดรุณี โดย ปราปต์ บุนปาน

ในมุมมองของมิตรสหายรายหนึ่ง “เธอคนแรก” คือหญิงสาวผู้ใฝ่ฝันจะศึกษาต่อจนจบระดับปริญญาเอก เพื่อเป็นวิศวกรอวกาศที่นาซา และบ้า-คลั่งไคล้เทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ

เธอคือเด็กเรียนเก่งชั้นหัวกะทิ ผู้พยายามหาประสบการณ์ชีวิตจากการทำงานอันหลากหลาย

มิตรสหายอีกรายเสริมว่าเขารู้จักเธอคนนี้เมื่อห้าปีก่อน ระหว่างที่ตนเองเปิดคอร์สสอนถ่ายรูป และเธอขณะยังเป็นนักเรียนเตรียมอุดมฯ ได้เข้ามาสมัครเรียน พร้อมความกระตือรือร้นและความตั้งใจที่เกินวัย ผนวกด้วยมุมมองผ่านเลนส์กล้องอันน่าสนใจ

เขาเชื่อว่าเธอจะต้องเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ธรรมดาแน่ๆ

Advertisement

แต่ชะตากรรมของประเทศชาติ ก็บีบให้วัยรุ่นหญิงผู้มีอนาคตคนหนึ่งอดทนนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ จนต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องหาความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในสังคม

ท้ายสุด อิสรภาพและร่างกายของเธอจึงถูกคุมขังจองจำเอาไว้ เพราะ “คดีการเมือง” ที่รุมกระหน่ำเข้ามา

“เธอคนที่สอง” เป็นนักเรียนมัธยมหญิงวัย 17 ปี ผู้ขึ้นปราศรัยบนเวที “เฟมินิสต์ปลดแอก” หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

Advertisement

เธอเล่าว่าตนเองเคยเป็นนักเรียนที่ดีคนหนึ่ง แต่สภาพการณ์ของโลกภายนอกอันเลวร้าย ก็ผลักดันให้เธอไม่สามารถยอมทนเป็นเพียงเด็กดีในระบบได้อีกต่อไป

เธอตัดสินใจโกนศีรษะต่อหน้าฝูงชน พร้อมประกาศว่าจะโกนหัวไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้นำประเทศคนปัจจุบันจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจนกว่าประเทศไทยจะไม่มีผู้นำเผด็จการอีกต่อไป

ถ้าเธอต้องหัวโล้นไปตลอดชีวิต นั่นก็แสดงว่าประชาธิปไตยไม่เคยมีอยู่จริงๆ ในประเทศนี้

ยังไม่มีใครรู้ว่าวัยรุ่นหญิงคนที่สองจะต้องเผชิญกับขวากหนามอะไรอีกบ้าง บนหนทางภายภาคหน้า

เมื่อมองเผินๆ หลายฝ่ายอาจจัดวางให้ “เธอคนที่สาม” เป็นบุคลากรคุณภาพของ “ฝ่ายอนุรักษนิยมรุ่นใหม่” หากประเมินจากวุฒิการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาบาลีและสันสกฤต และบาลีศึกษา 9 ประโยค (เทียบเท่าเปรียญธรรม 9 ประโยค) ของเธอ

แต่เมื่อพิจารณาภูมิหลังบนเส้นทางการเรียนรู้ โลกการศึกษาภาษาบาลีของเธอก็มิได้เรียบง่ายราบรื่นขนาดนั้น เพราะเธอมีทั้งครูบาอาจารย์ผู้เป็นอดีตพระมหาเถระซึ่งร่วงโรยในทางยศศักดิ์ ณ ปัจจุบัน และครูบาอาจารย์ผู้กำลังรุ่งเรืองก้าวหน้าในคณะสงฆ์ร่วมสมัย

ไม่กี่วันก่อน เธอคนนี้เพิ่งแสดงความเห็นผ่านทางโซเชียลมีเดียว่า “การสืบทอดพระพุทธศาสนา” นั้นต้องพึ่งพาทั้งการศึกษาในแผนกพระปริยัติธรรมและความเข้าใจในสังคมยุคใหม่อันเต็มไปด้วยความหลากหลาย

พุทธศาสนิกชน ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ จึงควรเรียนรู้-ทำความเข้าใจในโลกทั้งสองใบอย่างลึกซึ้ง

ไม่ต้องสงสัยว่านี่คือปฏิกิริยาอันมีต่อคำสั่งล่าสุดของมหาเถรสมาคม ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ตรงเนื้อหาที่ว่า

“ห้ามพระภิกษุ สามเณร เรียนวิชาเหมือนประชาชนทั่วไป เว้นแต่เข้าศึกษาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีการศึกษา หรือวิชาอื่นที่มหาเถรสมาคมกำหนดโดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีก็ได้ เพื่อประโยชน์แก่การเผยแผ่พระพุทธศาสนา

“หรือเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย หรือสถานศึกษาอื่นใดที่จัดการศึกษาโดยคณะสงฆ์”

เหล่านี้คือเสียงสะท้อน-ตัวตนของ “สามดรุณี” ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความห่วงใยในอนาคตของตนเอง ผู้คนรอบข้าง และสังคมไทยโดยรวม

นี่คือเสียงที่ผู้มีอำนาจจาก “โลกของอดีต” และยังพยายามครอบครอง “ปัจจุบัน” คงเคยได้ยินอยู่บ้าง แต่ไม่แน่ใจว่าเคยตั้งใจรับฟังมากน้อยแค่ไหน?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image