สถานีคิดเลขที่ 12 : พร้อมให้เสี่ยง แต่… โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่ 12 : พร้อมให้เสี่ยง แต่... เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

สถานีคิดเลขที่ 12 : พร้อมให้เสี่ยง แต่… โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจเล่นเกม “เสี่ยง” เปิดประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

เสี่ยงขณะที่ยอดผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับหมื่นและคนตายอยู่ในระดับร้อย

ขณะที่ยอดการฉีดวัคซีนยังต้องลุ้นว่าจะถึงเป้า 50% ตอนสิ้นปีหรือไม่

แต่ก็ยอมรับว่าเราคงอยู่ในภาวะล็อกดาวน์ประเทศ โดยไม่ทำอะไรไม่ได้

Advertisement

เมื่อผู้นำเลือกที่จะเสี่ยง

เชื่อว่าชาวบ้านซึ่งได้รับผลกระทบมาหนักหนา และไม่มีทางเลือกมากนัก ก็พร้อมให้โอกาส

แต่โอกาสนั้น มิได้ความว่าผู้นำจะทำอะไรก็ได้

หรือโชว์พิธีกรรมเอารัฐมนตรี ข้าราชการมายืนถ่ายรูปเป็นสักขีพยานว่าได้ทำตามที่พูด จากนั้นก็ทำอะไรๆ ตามเดิมคงไม่ได้

หรือจะเน้นเพียงรูปแบบ-สร้างภาพ อย่างเดียวก็คงไม่ไหว

เมื่อคิดถึงขนาดจะใช้ ลิซ่า และ แอนเดรีย โบเชลลี นักร้องโอเปร่าชื่อดังของโลก มางานเคาต์ดาวน์ โปรโมต รีโอเพนนิ่ง ประเทศไทย ด้วยทุนมหาศาล 200 ล้าน และเมื่อรวมบริหารจัดการเข้าไปด้วยอาจถึง 600 ล้านได้

ก็ควรคิดถึงเรื่องใหญ่ๆ ที่เป็นความทุกข์ของคนไทยหลายล้านคนด้วย

ประโยคที่พูดกันว่า เมื่อเปิดให้ต่างชาติมาเที่ยวได้ ก็ควรคิดหาวิธีเปิดโรงเรียนมหาวิทยาลัย ให้ลูกหลานด้วยนั้น

มิใช่แค่ประชดประชันอย่างเดียว

หากแต่เป็น “ประเด็น” สำคัญของชาติเลยทีเดียว

รัฐบาลควรต้องเอาจริงเอาจังมากกว่าที่เป็นอยู่อีกหลายเท่า

เพราะนี่จะเป็น “หนึ่ง” ในสัญญาณแรงๆ ที่จะส่งไปทั้งประเทศและทั่วโลก เหนือกว่าลิซ่า และแอนเดรีย โบเชลลี ด้วยซ้ำ

เมื่อไทยสามารถแสดงให้เห็นว่า สามารถกลับไปสู่ความปกติพื้นฐาน อย่างเด็กๆ สามารถไปโรงเรียน ไปมหาวิทยาลัยได้อย่างปลอดภัย

นั่นย่อมสะท้อนว่าเราสามารถควบคุมโรคระบาดได้ดี

ต่างชาติได้เห็น ได้ประจักษ์ เช่นนี้ น่าจะเชื่อมั่นกว่างานรีโอเพนนิ่ง ประเทศไทย แน่นอน

เช่นเดียวกัน เมื่อจะเปิดประเทศ “แกนสันหลัง” ที่จะดูแลควบคุมโรคระบาดโดยรวม ก็ต้องชัดเจน

อย่าลืม วันที่ 21 กันยายน 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558

เพื่อกำหนดให้มีมาตรการที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพ ในการป้องกัน ระงับ ควบคุมหรือขจัดโรคติดต่อที่มีการระบาดรุนแรงให้ยุติ หรือบรรเทาลงโดยเร็ว

โดยมีการเพิ่มหมวดที่เกี่ยวกับ “การจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข” เข้ามา

จะได้ไม่ต้องมาออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ครอบจักรวาล อย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้

แต่จากวันนั้น มาถึงวันนี้ พ.ร.ก.ดังกล่าาว ยังไม่รู้หมู่หรือจ่า

แถม นายวิษณุ เครืองาม รองนายรัฐมนตรี ที่ดูแลกฎหมาย ยังมาสร้างความมึนงงอีก

โดยให้สัมภาษณ์ว่า

“ขณะนี้ยังตัดสินใจอะไรไม่ได้
“ถ้าออกเป็นพระราชกำหนดในเวลานี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 172 กำหนดไว้ว่า ถ้าออกเป็นพระราชกำหนดระหว่างปิดสมัยประชุมสภา ก็ต้องเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ซึ่งเราคิดว่าไม่อยากทำแบบนั้น ก็อาจจะรอไว้ใกล้สภาเปิดแล้วค่อยพิจารณา…ถ้าสภาไม่ล่มเสียก่อน
“ยอมรับว่ายังตัดสินใจตรงนี้ไม่ได้ แต่ก็ได้หยั่งเสียงถามกระทรวงสาธารณสุขในฐานะเจ้าของเรื่อง เขาก็บอกว่าไม่เป็นอะไรใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปก่อนได้ แม้มันจะไม่ค่อยดี แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เลี่ยงอย่างไร”

ฟังแล้วคิดกันอย่างไรกับ “สภาพ” เช่นนี้

ถึงมีเสียงซุบซิบกระหึ่ม ว่า “เขา” ไม่อยากเอา พ.ร.ก.ฯเข้าเพราะกลัวไม่ผ่าน ด้วยพรรคพลังประชารัฐคุม ส.ส.ที่ทะเลาะกันเองไม่ได้

ทั้งที่ เรากำลังจะเปิดประเทศกันนะจ๊ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image