สถานีคิดเลขที่ 12 : จาก ‘พรศักดิ์’ ถึง ‘สนามเลือกตั้งอีสาน’ โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : จาก ‘พรศักดิ์’ ถึง ‘สนามเลือกตั้งอีสาน’ โดย ปราปต์ บุนปาน

สัปดาห์นี้ขออนุญาตเขียนถึง “สองเรื่อง” ที่ดูคล้ายจะไม่มีความเกี่ยวข้อง ทว่ากลับยึดโยงกันอย่างแยกไม่ออก

เรื่องแรก คือ ข่าวการเสียชีวิตของ “พรศักดิ์ ส่องแสง” นักร้องลูกทุ่งหมอลำระดับตำนาน

บทความชิ้นนี้จะไม่ได้พูดถึงเรื่องราวชีวิตของพรศักดิ์โดยตรง หากอยากกล่าวถึง “พื้นที่แห่งการก่อร่างสร้างชื่อเสียง” ของเขา นั่นก็คือ “วัฒนธรรมดนตรีสมัยนิยมอีสาน”

“ดนตรีสมัยนิยมอีสาน” หรือที่เรียกกันว่า “ลูกทุ่งหมอลำ-ลูกทุ่งอีสาน” นั้น คือการนำดนตรีพื้นถิ่นอย่าง “หมอลำ” ไปพัฒนา ผ่านการผสมผสาน-ตอบโต้กับวัฒนธรรมดนตรีแบบ “ไทยภาคกลาง” รวมถึงวัฒนธรรมดนตรีจากต่างประเทศ

Advertisement

จุดเด่น-จุดแข็งของ “ดนตรีสมัยนิยมอีสาน” คือการเป็นวัฒนธรรมดนตรีที่ปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อตอบสนอง “มิตรหมอแคนแฟนหมอลำ” รุ่นแล้วรุ่นเล่า

ท่ามกลางบริบทอันไม่หยุดนิ่ง อาทิ การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของภาคอีสาน, เทคโนโลยีการสื่อสารและการผลิตสื่อบันเทิงที่ก้าวหน้าและเข้าถึงง่ายขึ้น ตลอดจนการอพยพย้ายถิ่นฐานของบรรดาแฟนเพลงเพื่อไปทำงานทั้งในและต่างประเทศ (หมายถึงกำลังซื้อที่มากขึ้น และรสนิยมที่หลากหลายยิ่งขึ้น)

ราวสองทศวรรษก่อน เคยมีความเห็นทำนองว่า “เพลงลูกทุ่ง (ภาคกลาง)” ได้ “ตาย” หรือเสื่อมมนต์ขลังลงแล้ว คล้อยหลังมรณกรรมของศิลปินเบอร์ใหญ่รายใดรายหนึ่งหรือรุ่นใดรุ่นหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนชะตากรรมเช่นนั้นจะไม่เกิดขึ้นกับ “เพลงลูกทุ่งหมอลำ-ลูกทุ่งอีสาน” ที่ผ่านการปรับเปลี่ยนรูปแบบ-เนื้อหาโดยครูเพลงและศิลปินหลากรุ่น และยังดำรงอยู่ในกระแสนิยมของมวลชนโดยต่อเนื่อง

ดังที่ “แวง พลังวรรณ” เขียนเอาไว้ในหนังสือ “ลูกทุ่งอีสาน : ประวัติศาสตร์อีสาน ตำนานเพลงลูกทุ่ง” ว่า “ลูกทุ่งอีสานคือการสานต่อภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ที่บรรพชนของชาวอีสานได้ก่อไว้ในรูปแบบของกลอนลำและเพลงชนิดต่างๆ”

คำว่า “ภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์” ของ “แวง พลังวรรณ” นั้นน่าจะหมายถึงการแพร่กระจายสืบสานวัฒนธรรมในแนวระนาบระหว่างชาวบ้านท้องถิ่น มิใช่ “ความศักดิ์สิทธิ์” ที่ถูกส่งมอบจากอำนาจรัฐเบื้องบนมาสู่ประชาชนเบื้องล่าง

หากมองในทางเศรษฐกิจ ผู้รู้ส่วนใหญ่เสนอว่า “ดนตรีสมัยนิยมอีสาน” ไม่มีวันตายเพราะมีฐานผู้ฟังเป็น “กลุ่มตลาดล่างขนาดใหญ่” ตามสัดส่วนจำนวนประชากร มิหนำซ้ำ ประชากรวัยทำงานในภูมิภาคนี้ยังมีพลวัตสูงผ่านการเดินทางไกลของพวกเขาและเธอ (ตามที่ได้กล่าวไว้ช่วงต้นบทความ)

อย่างไรก็ดี “ดร.พัฒนา กิติอาษา” นักมานุษยวิทยาเลือดอีสาน เคยเสนอว่ามีปัจจัยด้านวัฒนธรรมอีกหลายประการที่เสริมหนุนให้ “เพลงลูกทุ่งหมอลำ-ลูกทุ่งอีสาน” ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงและผู้คนหลายรุ่นได้อย่างน่าทึ่ง

หนึ่งในนั้น คือ วัฒนธรรมดนตรีอีสานได้ยึดเอาตลาด หรือความนิยมของผู้ชม-ผู้ฟังเป็นใหญ่ กระทั่งมีลักษณะยืดหยุ่น มิได้ยึดติดเคร่งครัดกับจารีตเดิมแบบตายตัว

อาจารย์พัฒนาวิเคราะห์ว่านี่เป็นการทำงานแบบ “ลองเบิ่ง” (ลองดูหรือทดลองทำดู) อันเป็นหัวใจสำคัญในวิธีคิดและการใช้ชีวิตดิ้นรนต่อสู้ของคนอีสาน มากกว่าจะหยุดนิ่ง หรือก้มหน้ายอมรับชะตากรรมและการถูกเอารัดเอาเปรียบ

พรรคการเมืองต่างๆ เอง ก็กำลัง “ลองเบิ่ง” อะไรบางอย่างกับ “ตลาดอีสาน” เช่นกัน

พรรคพลังประชารัฐในนามของรัฐบาลเริ่มไปเยือนอีสานถี่ขึ้น แต่คล้ายยังยึดติดกับ “วัฒนธรรมการลงพื้นที่”

พรรคก้าวไกลเพิ่งประชุมใหญ่ที่ขอนแก่น พร้อมโยนอุปมาชวนฉุกคิดเรื่อง “ช้างอุ้ยอ้าย” และ “เสือนอนกิน” ร่วมด้วยการเปิดแนวทางพัฒนา “อีสานสองเท่า”

ต้องจับตาดูว่าปลายเดือนนี้ พรรคเพื่อไทยพร้อมสโลแกน “พรุ่งนี้เพื่อไทย : เพื่อชีวิตใหม่ของประชาชน” จะมีความเคลื่อนไหวอะไรที่น่าตื่นเต้นบ้าง

และพรรคไหนจะครองใจประชากรผู้เปี่ยมพลวัตในภาคอีสานได้มากที่สุด?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image