สถานีคิดเลขที่ 12 : โอกาสปฏิรูปการเมือง โดย นฤตย์ เสกธีระ

สถานีคิดเลขที่ 12 : โอกาสปฏิรูปการเมือง โดย นฤตย์ เสกธีระ

ใครที่ใฝ่ฝันอยากเห็นการเมืองปฏิรูป ต้องบอกว่าขณะนี้ถือเป็นโอกาส เพราะการเมืองกำลังพิจารณาทบทวนตัวเองก่อนการเลือกตั้ง

แม้หลายคำพูดหลายการกระทำอาจจะมี “อื่นๆ” แอบแฝง แต่ก็พอสัมผัสข้อเสนอที่จะนำไปสู่การปฏิรูป

เริ่มจากพรรคพลังประชารัฐที่เมื่อ 3 ป.เกิดรอยร้าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ปรับตัว

เริ่มพบปะ ส.ส. เริ่มเข้าหาประชาชน ไม่ใช้วิธีนั่งบัญชาการอยู่ในที่ตั้งแบบแม่ทัพใหญ่เหมือนก่อน

Advertisement

ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ระยะหลังพูดอิงประชาชนอยู่เนืองๆ

ทั้งการวิพากษ์พรรคตัวเองว่า ไม่สามารถทำตามนโยบายหาเสียงได้

ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์พาดพิงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องเปิดรับฟังคำเห็นต่างให้มากขึ้น

Advertisement

ขณะที่พรรคเพื่อไทยที่กำลังประชุมพรรคในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ ก็มีเวลาทบทวนตัวเอง

การบริหารงานของพรรคที่ยังอิงแอบ ทักษิณ ชินวัตร แม้จะมีจุดแข็งแต่ก็มีจุดอ่อน

เรื่องจุดแข็งและจุดอ่อนนี้ไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำ เพราะตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมาทุกคนได้เห็น

วันนี้หลายคนนิยมไอเดียของนายทักษิณ แต่ขณะเดียวกันเมื่อมีอะไรที่พลาดพลั้งเหล่าอมิตรต่างพร้อมใจรุมยำ

ล่าสุด เมื่อคลิปวันที่พรรคเพื่อไทยจัดงานเลี้ยง มีลิงก์ต่อไปยังทักษิณ

มีการพูดถึงผู้นำที่จะมาดูแลพรรค มีการสอบถามความคิดเห็น

และขณะนี้กำลังกลายเป็นเรื่อง!

ทางด้านพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเหลือบมองดูผลโพลล่าสุด ต้องยอมรับว่ายังมีอะไรต้องปรับปรุง

ก่อนหน้านี้ นายเทพไท เสนพงศ์ ชี้ให้เห็นยอดเงินบริจาคให้พรรคผ่านภาษีเงินได้

พรรคประชาธิปัตย์น้อยกว่าพรรคก้าวไกล

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผลสำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างในภาคใต้ มีประเด็นชวนคิด

เมื่อถามถึงการลงคะแนนเสียงเลือกพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ปรากฏว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.14 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจ

ร้อยละ 30.04 ระบุว่า จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 20.38 ระบุว่า จะไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์

นี่เป็นการบ้านของพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องกลับไปทบทวน

สำหรับภาพใหญ่ของการเมือง เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ต้องแก้ไขกฎหมายลูก

ฉบับแรกที่ต้องแก้ไข คือ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ในประเด็นบัตร 2 ใบ

โฟกัสที่วิธีการคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ

อีกฉบับหนึ่งมีแรงผลักดันให้แก้ไขอย่างหนัก คือ พ.ร.ป.พรรคการเมือง

ประเด็นที่จะแก้ไขคือ การใช้ระบบไพรมารีโหวตในการคัดเลือกว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของแต่ละพรรค

ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ คือ การเริ่มต้น

หากคิดจะปฏิรูปการเมืองก็ต้องปฏิรูปในช่วงที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีการรับฟังความคิดเห็น

7 ปีที่ผ่านมา ยืนยันว่า การปฏิรูปภายใต้การรัฐประหารนั้นไม่สำเร็จ

แต่การปฏิรูปการเมืองในขณะนี้ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จ

เพียงแต่เป็นช่วงเวลาที่ได้ปรับปรุง ได้รับฟังความคิดเห็น

มีการตรวจทานว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้

ถ้าคิดจะปฏิรูปการเมือง ช่วงเวลานับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป น่าจะมีโอกาสมากกว่าเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image