สถานีคิดเลขที่ 12 : ประชัน ‘ว่าที่นายกฯ’ โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

สถานีคิดเลขที่12 : ประชัน ‘ว่าที่นายกฯ’ โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

หลังศึกไม่ไว้วางใจล่าสุด ข่าวยุบสภา และข่าวใครคือนายกรัฐมนตรีคนต่อไป สะพัดเป็นพิเศษ

ข่าวยุบสภา มีเหตุจาก ความแตกร้าวของ 3 ป. จนบานปลายไปสู่การปลด 2 รมช.

ส่วนข่าวนายกฯ คนต่อไป ก็เป็นผลจากการที่ 3 ป.เกิดปีนเกลียวกันขึ้นมา

ก็ทำให้เกิดคำถามว่า เส้นทางบิ๊กตู่ที่ 3 ป. ร่วมกันดีไซน์ไว้ให้เป็นนายกฯ 2 สมัย จะยังเป็นไปได้หรือไม่

Advertisement

แม้นายกฯ ตู่ยืนยันหลายครั้งว่า ยังไม่คิดเรื่องยุบสภา แต่เรื่องยุบสภา ดูเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะพรรคต่างๆ พากันเดินสายตรวจราชการ และหาเสียงไปพร้อมกันเป็นการใหญ่

ไม่เพียงเท่านั้น พรรคต่างๆ ออกมาประกาศกันแล้วว่า ในสนามเลือกตั้งครั้งหน้าจะใส่ชื่อใครเป็นแคนดิเดตนายกฯ

ปชป.นั้นชัดว่า จะเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค, ภูมิใจไทย คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคเช่นกัน

ก้าวไกลผลักดัน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค แคนดิเดตอายุน้อยสุดในขณะนี้ แต่ประมาทไม่ได้เหมือนกัน

อีก 2 พรรคที่ยังมีฝุ่นตลบอยู่ คือพรรคที่คาดว่าจะได้เสียงเป็นกอบเป็นกำ จากระบบบัตร 2 ใบ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2565 หรือ 2566

อย่างพรรคเพื่อไทย มีสมาชิกภาคอีสานเสนอให้ดึง คุณหญิงพจมาน ชินวัตร มาเป็นหัวหน้าพรรค แต่โดนเบรกจากอดีต นายกฯ ทักษิณไปเรียบร้อย

หลังจากนั้น มีการโยนชื่อ ครอบครัว ญาติพี่น้องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาถามทางอีก 2-3 คน โดยระบุว่า อยู่ในข่ายจะได้เป็นนายกฯ

แต่ยังไม่มีบทสรุป นอกจากบอกว่าพรรคเพื่อไทยเตรียมไว้แล้ว ให้รอไปก่อน

ส่วนทางพรรคพลังประชารัฐ มีข่าวปล่อยมากหน่อย เพราะแตกเป็น 2 ขั้วชัดๆ

ฟากหนึ่งบอกว่า ต้องเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ คนเดียวตามเดิม

แต่มีเสียงจากอีกขั้วแย้งว่า น่าจะเสนอสำรองไว้สัก 1 ชื่อ เผื่อเจอปัญหาที่คาดไม่ถึงขึ้นมา โดยเฉพาะข้อห้ามเป็นนายกฯติดต่อกัน 8 ปี

ตรงนี้น่าสนใจ เพราะ พปชร. มี “ตัวช่วย” จาก ส.ว. 250 เสียง พร้อมเทให้

เป็นความได้เปรียบของแคนดิเดตจาก พปชร. ที่พรรคอื่นไม่มี

ก็คงพอจะมองเห็นภาพการเมืองประเทศไทยปลาย 2564-2565 ว่า จะยุ่งเหยิงสักหน่อย

ไหนจะงานประจำ คือการแก้ปัญหาประเทศจากพิษโควิด ไหนจะเรื่องการเมืองที่จะต้องไปต่อให้ได้

การเมืองตามวิถีทางสากล จะมีรัฐธรรมนูญกำหนดหลักสำคัญๆ ไว้

จะเข้าจะออก อยู่หรือไป ล้วนเชื่อมโยงกับประชาชนผ่านทางสภา

จะไปต่อหรือไม่ อยู่ที่เสียงจากการเลือกตั้ง

แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีบทเฉพาะกาล ให้ ส.ว.จากแต่งตั้ง สำคัญเท่าคนที่ประชาชนเลือกเข้ามา

เรื่องจะยุ่งเมื่อ คนที่ ส.ว.ปลื้มกับ ที่คนประชาชนลงคะแนนให้ เป็นคนละคนกัน

วิถีทางแหวกๆ แบบนี้ อาจทำได้บางครั้ง โดยอ้างความจำเป็น แต่ถ้าหลายครั้ง ไม่น่าจะง่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image