สถานีคิดเลขที่ 12 : คิดยาว-คิดสั้น โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

สถานีคิดเลขที่ 12 : คิดยาว-คิดสั้น โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

วันอาทิตย์ 28 พ.ย.นี้ จะมีการเลือกตั้ง นายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. 5 พันกว่าแห่งทั่วประเทศ

คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต.ทำโพลออกมาแล้ว ประชาชนร้อยละ 73.5 ยืนยันไปเลือกตั้งแน่นอน

เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้ง จะเป็นไปด้วยความสุจริต ยุติธรรม หรือไม่ คำตอบร้อยละ 53.3 เชื่อมั่น ร้อยละ 30.9 ไม่แน่ใจ และ ร้อยละ 15.8 ไม่เชื่อมั่น

เห็นชัดว่า ประชาชนมีความพร้อมจะไปเข้าคูหาหย่อนบัตร ส่วนการเลือกตั้งจะเรียบร้อยโปร่งใสแค่ไหน ต้องรอฟังกันต่อไป

Advertisement

เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กลับมา หลังจากโดนดองไว้ตั้งแต่รัฐประหาร 2557

ยังเหลือเลือกตั้ง กทม.และเมืองพัทยา ที่รัฐบาลยังเงียบๆ ไม่ยอมเคาะ แต่คาดหมายได้ว่า ต้องไปคุยกันใหม่ปี 2565

ทำให้ปี 2565-2566 เป็นปีของการเลือกตั้งครั้งสำคัญ

Advertisement

ล่าสุด การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มีผลบังคับใช้แล้ว จากนี้ไปคือการแก้กฎหมายลูก

กฎกติกาชุดนั้นเริ่มจากความคิดว่า ดีไซน์เพื่อพวกเรา ส่วนกฎหมายลูกจะเดินตามรอยเดิมอีกไหม ต้องติดตาม

ต้องชิงไหวชิงพริบกันพอควร อย่างการให้ผู้สมัครใช้เบอร์เดียวกันทั่วประเทศ เพื่อความสะดวกของผู้ใช้สิทธิ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ดี

แต่ในสถานการณ์อย่างปัจจุบันนี้ อาจมีคนเห็นเป็นเรื่อง “เอื้อ” บางพรรคไป

เรื่องกฎหมายลูกคงใช้เวลากันเต็มที่ ตั้งเรื่องกันตอนนี้ ไปเสร็จเดือน ก.ค.2565

พอดีกับข่าวว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะตียาวไปยุบสภาปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566 หลังจากทำหน้าที่เจ้าภาพเอเปค และส่งไม้ต่อให้เจ้าภาพรายใหม่

เรียกว่าจะ “อยู่ยาว” เกือบครบวาระ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้จะครบเทอม 4 ปีในเดือน มี.ค.2566 และอาจกลับมาด้วยกลไกของบทเฉพาะกาลที่มีอายุ 5 ปี

เป็นแผนงานใหญ่ แต่ไม่ง่าย ด้วยรอยร้าวที่แกนอำนาจซึ่งกำลังชิงพรรคกัน และยังมีปัญหาในการบริหารงานด้วย

เศรษฐกิจตอนนี้ ย่ำแย่ด้วยโควิด-19 และเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามา ดิสรัปต์

เครื่องยนต์ดับไม่พอ ยังเกิดปัญหาเครื่องยนต์เก่า พ้นสมัย เพราะขาดการพัฒนา

ขณะที่เครื่องยนต์การเมืองก็ตกยุค โดนล็อกอยู่ด้วยกลไกในบทเฉพาะกาล

ความไม่ง่ายนี้ พรรคต่างๆ รู้ดีและได้กลิ่น จึงเดินหน้าหาเสียงกันจ้าละหวั่น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน

พลังประชารัฐ ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล ก็เดินหนักอยู่

ส่วนประชาชนเจ้าของสิทธิ จะยอมนั่งๆ นอนๆ ใจเย็นๆ รอเวลาไปโหวตตามปฏิทินของรัฐบาลไหวหรือไม่ น่าสงสัยอยู่เหมือนกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image