สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘สองนครา’ กลางทศวรรษ 2560 โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘สองนครา’กลางทศวรรษ 2560 ปลายปี 2564

สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘สองนครา’ กลางทศวรรษ 2560 โดย ปราปต์ บุนปาน

ปลายปี 2564 ขอหยิบยืมคำว่า “สองนครา” ที่ถูกทำให้แพร่หลายโดย รมว.อว. มาใช้สักหน่อย

แม้นัยยะความหมายของ “สองนครา” ในงานเขียนชิ้นนี้ จะเคลื่อนที่มาไกลมากแล้ว จากปัญหาความไม่ลงรอยกันระหว่าง “การเมืองของคนเมือง” กับ “การเมืองของคนชนบท” เมื่อกลางทศวรรษ 2530

“สองนครา” กลางทศวรรษ 2560 คือ การยื้อยุดกันระหว่าง “การเล่น/การต่อสู้/การดำเนินกิจกรรม” การเมือง สองรูปแบบ สองสนาม สองแนวทาง

ขั้วหนึ่ง คือ “การเมืองของผู้มีอำนาจ” ซึ่งแม้จะดูมีปัญหาเรื่องความชอบธรรม คล้ายจะไม่ได้รับฉันทามติจากคนส่วนใหญ่ในสังคม

Advertisement

แต่สามารถปักหลักตั้งมั่นอยู่ได้ด้วยระบบกลไกอำนาจรัฐต่างๆ และองคาพยพทั้งหมดในสถาบันทางการเมือง ที่ขับเคลื่อนสอดประสานกันอย่างคล้องจองเป็นระเบียบ

จึงไม่แปลกที่หลายฝ่ายมีความเชื่อว่า “รัฐบาลประยุทธ์-พลังประชารัฐ” จะดึงดันอยู่ในอำนาจต่อไปได้จนครบวาระ แม้รัฐนาวาลำนี้จะมีสภาพโอนเอนโคลงเคลงขนาดไหนก็ตาม

และก็อาจเป็นดังที่หลายคนวิเคราะห์ไว้ว่า ต่อให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านคว้าชัยชนะแบบ “แลนด์สไลด์” ในการเลือกตั้งหนหน้า ก็อาจมีกลไกนานัปการที่ช่วยพยุงให้ “ระบอบประยุทธ์” ดำรงอยู่ต่อไปได้

Advertisement

ไม่ว่ากลไกเหล่านั้นจะเป็นมือของ 250 ส.ว. การตามสอย “คุณสมบัติที่ไม่น่าเป็นปัญหา” แต่ดันถูกมองว่า “มีปัญหา” ของนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม

รวมถึงการพยายามปลุกเร้าพลัง “ขวาสุดโต่ง” และ/หรือ “จารีตนิยม” ให้เกิดขึ้นในสังคม

เมื่อมองแง่นี้ เราจึงแทบไม่มีความหวังหรือมองไม่เห็นเค้าลางความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในสังคมการเมืองไทย

เพราะภาพเดียวที่ปรากฏชัดคือภาพ “เครือข่ายผู้มีอำนาจ” ซึ่งลงหลักปักฐานอยู่อย่างหนักแน่นมั่นคง ยากโค่นล้ม

อีกขั้วหนึ่ง คือ “การเมืองของผู้ด้อยอำนาจ” ซึ่งเป็นการต่อสู้เคลื่อนไหวผ่าน “การรุมแบน” คนมีชื่อเสียงบางคน/บางกลุ่ม อย่างเข้มข้นจริงจัง ในพื้นที่ออนไลน์/พื้นที่ทางวัฒนธรรม โดยเหล่าคนรุ่นใหม่

นี่คือปรากฏการณ์ที่สังคมต่างประเทศนิยามว่าเป็น “แคนเซิล คัลเจอร์”

ปัญหาของการต่อสู้ในสนาม “ซอฟต์เพาเวอร์” หรือการรณรงค์ผ่านการใช้อำนาจในฐานะ “ผู้บริโภค” สินค้าบันเทิงเช่นนี้ อาจไม่ได้อยู่ตรงความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เนื่องจากมันได้กลายสภาพเป็น “ปทัสถาน” ของคนรุ่นใหม่จำนวนมากในปัจจุบันไปเรียบร้อยแล้ว

แต่คำถามจริงๆ อาจอยู่ที่เราจะประเมินพลังของการต่อสู้ดังกล่าวอย่างไร?

เมื่อวัฒนธรรม “แคนเซิล” พฤติกรรม-ความคิดที่ “ไม่ถูกต้องทางการเมือง” ต่างๆ นั้นไม่สามารถล้มล้าง “ระบอบประยุทธ์” หรือโต้แย้งคัดง้างคำวินิจฉัยขององค์กรอิสระทั้งหลาย ได้อย่างทันทีทันใด

เช่นเดียวกับ “พลังของผู้บริโภค” ที่ฟังดูยิ่งใหญ่ในบริบทของอุตสาหกรรมบันเทิง/วัฒนธรรม แต่อาจสั่นสะเทือน “กลุ่มทุนใหญ่ๆ” ในระบบเศรษฐกิจไทย (ที่ไม่ได้วางรากฐานความมั่นคง-มั่งคั่งอยู่บนฐานผู้บริโภค) ได้ไม่มากนัก

คำตอบใน “แง่บวก” อาจมีประมาณว่า “แคนเซิล คัลเจอร์” นั้นมีศักยภาพในระยะยาว สำหรับการฉีกทิ้งทำลาย “มรดกบาป” จากอดีต ที่ตกทอดหลงเหลือมาถึงปัจจุบันหรือไปถึงอนาคต

เช่น ถ้าคุณหมดอำนาจลงเมื่อไหร่หรือเหลืออำนาจอยู่ในมือน้อยลงเต็มที แล้วคุณและ/หรือสมาชิกครอบครัวพลัดหลงเข้ามาสู่ “พื้นที่ทางการเมืองวัฒนธรรม” สนามนี้

เมื่อนั้น “ตัวตน/คุณค่าเดิมๆ” ของคุณ ก็จะถูกรุมฉีกกระชากออกเป็นชิ้นๆ อย่างไร้ปรานี

นี่คือสภาพของ “สองนครา” กลางทศวรรษ 2560 ที่ “การรักษาอำนาจ” แบบหนึ่ง และ “การท้าทายอำนาจ” อีกแบบ ต่างมี “จุดแข็ง” ในพื้นที่เฉพาะของตน

ทว่ากลับแลดู “ไร้พลัง” เมื่อนำไปจัดวางในพื้นที่เฉพาะของอีกฝ่าย

อย่างไรก็ดี ย่อมมีโอกาส ซึ่ง “การเมืองสองแนวทาง” นี้ จะสบโอกาสปะทะชนกัน ณ “พื้นที่ตรงกลาง” ในห้วงเวลาหนึ่งภายภาคหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image