สถานีคิดเลขที่ 12 : ทางออก-ทางตัน? โดย จำลอง ดอกปิก

สถานีคิดเลขที่ 12 : ทางออก-ทางตัน? โดย จำลอง ดอกปิก

รัฐนาวาบิ๊กตู่ เผชิญปัญหาใหญ่

ที่อาจนำ สู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเร็วขึ้น

ไม่แน่นักว่า จะยืดขยายเป้าหมายอยู่ครบเทอม 4 ปี ทอดเวลาออกไปได้ยาวนานแค่ไหน

หากไม่สามารถบริหารจัดการ แก้ไขกรณีที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ แนวโน้มอับปางย่อมมีอยู่สูง

Advertisement

แกนนำรัฐบาลหลายคน โดยเฉพาะจากพรรคพลังประชารัฐ พยายามพูดจา กลบเกลื่อน รัฐบาล ไม่มีปัญหาเรื่องเสถียรภาพแต่อย่างใด

อาจเป็นเพราะรู้ตื้นลึก หนาบาง การจัดฉาก พล็อตเรื่อง ที่ดำเนินไปอย่างเป็นระบบก็เป็นได้

จึงมั่นใจ การวางเค้าโครงแต่ต้น จนปลาย ว่าจะสามารถควบคุม มิให้สถานการณ์บานปลาย เลวร้ายกระทั่งกระทบรัฐบาล

Advertisement

ถึงขั้นอยู่ไม่ได้

แต่การที่กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ มีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และผู้แทนร่วมมุ้งอีก 20 คน พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค

ไม่ว่ามองจากเหลี่ยมมุมไหนล้วนแต่ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลทั้งสิ้น

การออกจากพรรคที่เป็นแกนนำรัฐบาล เพื่อไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่

ตามความเข้าใจ ของประชาชนทั่วไป ก็คือการไม่ประสงค์ร่วมสังฆกรรม กับพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกต่อไป

หากแน่วแน่ มั่นคงในจุดยืน ที่จะอุ้มชูสืบทอดเก้าอี้นายกฯต่อไป

ไม่มีเหตุผล ความจำเป็นอันใดเลย ที่จะแยกตัวออกมา เพื่อความเป็นอิสระ ในการสนับสนุน

เมื่อแยกตัวออกมา

แน่นอนว่า ย่อมถูกนับหัว นับจำนวนเสียง ไปอยู่กับอีกฝั่ง

ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร มีอยู่ 2 ฝ่าย ไม่เป็นรัฐบาล ก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน เท่านั้น

ตามโครงสร้างระบบการเมือง

การขับกลุ่มธรรมนัสออกจากพลังประชารัฐ จึงทำให้เสียงรัฐบาลปริ่มน้ำ เกินกึ่งหนึ่งไม่กี่เสียง

ตกอยู่ในสภาพการณ์ง่อนแง่น

มีจำนวนที่ไม่มากพอเป็นหลักประกัน การทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่า การผลักดันกฎหมายออกมาบังคับใช้ เป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหาร

การจะฝ่าด่าน การตรวจสอบการทำงาน เพื่อขอให้สภาไว้วางใจ มอบหมายทำหน้าที่ต่อ

เมื่อเสียงมีปัญหา ก็ย่อมกระทบต่อความเชื่อมั่น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และเป็นอุปสรรค ต่อการบริหาร พัฒนา คลี่คลายปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ

นักวิชาการ และฝ่ายการเมืองฟันธง

หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้ รัฐบาลตกอยู่ในภาวะ สุ่มเสี่ยง แพ้โหวตในสภา ซึ่งหากกฎหมายการเงินสำคัญ ไม่ผ่านสภา ต้องแสดงความรับผิดชอบ ไม่ยุบสภา ก็ลาออก

หรืออาจแพ้โหวต ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในสมัยประชุมหน้า เริ่มจากปลายเดือนพฤษภาคม เป็นต้นไป

ทำให้หลุดพ้นตำแหน่งทันที

แต่ยังมีเวลาแก้ปัญหา กว่าถึงเดือนพฤษภาคม และหากเคลียร์ไม่จบ นายกฯคงไม่เดินเข้าสภาให้ฝ่ายค้านซักฟอก น็อกคาเวที ความเป็นไปได้ที่จะยุบสภา เดือนเมษายน มีแนวโน้มสูง

แต่โอกาสรอดยังมี ใช่ว่าตีบตัน ไร้ซึ่งทางออก

เป็นต้นว่า ดึงกลุ่มธรรมนัส (ในสังกัดพรรคใหม่) กลับมาร่วมรัฐบาล ยอมงอ ตามแผนแยกตัว-เพิ่มอำนาจต่อรอง บีบเอาเก้าอี้รัฐมนตรี, จีบพรรคฝ่ายค้าน ร่วมรัฐบาล(ค่อนข้างยาก), ใช้ปฏิบัติการงูเห่า บริหารจัดการเสียงโหวตในแต่ละครั้งเป็นจ๊อบๆ, ดึงกลุ่มธรรมนัสร่วมโดยมีข้อตกลงแลกเปลี่ยนภายใน แต่ไม่ให้โควต้ารัฐมนตรี นอกจากบทตัวตลก, จัดการด้วยคดีความ เบรกซ่า เป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาล

อย่างนี้ก็อาจพอทำให้รัฐบาลอยู่ได้ แม้ทุลักทุเลก็ตาม

แต่ก็มีค่าที่ต้องจ่ายมหาศาล

เนื่องจากมันเป็นด้านที่บ่อนเซาะทำลายพัฒนาการทางการเมือง

เกิดคำถาม ซ้อนคำถาม ถึงความชอบธรรมอย่างหนักหน่วง

อาจไม่เหลือศรัทธาที่มีต่อรัฐบาล-3 ป.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image