สถานีคิดเลขที่ 12 : นัยยะ-ตีความ โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

สถานีคิดเลขที่ 12 : นัยยะ-การตีความ

สถานีคิดเลขที่ 12 : นัยยะ-ตีความ โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

ผลเลือกตั้งซ่อม ส.ส.หลักสี่-จตุจักร หรือเขต 9 กทม. เป็นภาพสะท้อนและมีนัยยะมากมายให้ตีความ

คนในวงการเมือง ตีความได้และอ่านออก รู้อยู่แก่ใจดีว่าเกิดอะไรขึ้นในการเมืองขณะนี้

แต่จะพูดออกมาอย่างไร เข้าใจได้ว่าขึ้นกับกรอบจำกัดของแต่ละคน

สื่อต่างๆ รายงานผลเลือกตั้ง 30 มกราคม ครึกโครมต่อเนื่องมาจนขณะนี้ ควบคู่ไปกับสื่อโซเชียล ทำหน้าที่เป็น “ความจำออนไลน์” ของสังคม เหมือนที่ทำมาทุกปี

Advertisement

สื่อโซเชียล ดีดเด้งข่าวเก่าๆ ออกมาย้ำเตือนว่า ปลายเดือนมกราคม และต้นเดือนกุมภาพันธ์ ของปี 2557 เกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย

8 ปีก่อน การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ถูกล้ม เป็นผลงานใคร ฝีมือใคร ยิ่งนานวันยิ่งจำได้

หลายคนที่เกี่ยวข้อง เปลี่ยนความคิดไปแล้ว บางคนสารภาพ บ้างทำเนียนๆ ผสมโรงไปกับกระแสปัจจุบัน หลายคนยังอุบเงียบ

คำทรงจำออนไลน์ ได้ช่วยชี้ความเชื่อมโยงของปี 2557 กับปี 2565

คือการสืบทอดอำนาจ โดยอาศัยกฎหมายและอำนาจจากกฎหมาย ดีไซน์โดยมือกฎหมายระดับเกจิ

ผ่านไปไม่กี่ปี จนกระทั่ง 8 ปีในวันนี้ การดีไซน์ที่ไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระดับชี้ขาด เป็นแค่ตัวประกอบ

ผลที่ตามมาคืออะไร

การเลือกตั้งซ่อมที่เกิดขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งของผลนั้น

ที่น่าคิด และหลายคนคิดจนได้บทสรุปแล้วก็คือ ถ้าการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เกิดขึ้น ประชาชนทั้งประเทศได้เป็นผู้ตัดสินวิกฤตจากกรณีนิรโทษกรรมเหมาเข่ง-สุดซอย ประเทศไทยวันนี้จะเป็นอย่างไร

จะดีกว่านี้ หรือแย่กว่านี้

และอีกคำถาม การล้มเลือกตั้งปี 2557 นำการเมืองอีกแบบเข้าแทนที่ ทำให้กราฟสังคมไทยพุ่งสูงหรือมุดลง

นักวิชาการด้านสังคม บอกว่า สังคมมนุษย์ พัฒนาไปในทิศทางที่มีเสรีมากขึ้นและมากขึ้น

การเดินไปในทิศทางตรงกันข้าม คือเงื่อนไขของวิกฤตและความวุ่นวาย

สังคมสมัยใหม่ ตั้งมั่นบนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ประชาชนต้องมีสิทธิครบถ้วนโดยไร้ข้อยกเว้น

สิทธิสำคัญทางการเมืองคือ การเลือกตั้งในกติกาที่มีมาตรฐานเป็นธรรม

จะเก่งดี ซื่อสัตย์จนดมแล้วดมอีกได้ แต่จะเป็นผู้บริหารบ้านเมือง ต้องให้ประชาชนตัดสิน ไม่ใช่ดมกันเอง เออออกันเอง

เมื่อประชาชนเลือกใคร บุคคลนั้นจึงมีความชอบธรรมที่จะเข้ามาใช้อำนาจต่างๆ โดยเฉพาะอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร

นอกจากมอบหมายให้เข้ามาแล้ว ยังมีสิทธิยกเลิก ขับไล่ได้

ระบบการเมืองแบบวันเวย์ที่ดีไซน์กันมาให้ เลือกมาได้ แต่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คือกติกาที่ตุกติกในตัวเอง

สังคมโลกสมัยใหม่ก้าวไปในทิศทางนี้ในทุกมิติ สะท้อนให้เห็นในระบบการเงินดิจิทัล เทคโนโลยีการสื่อสารที่ให้ความสำคัญกับสิทธิส่วนบุคคล อิสระจากการครอบงำ ฯลฯ

การฝืนกระแส ตีความปรากฏการณ์เข้าข้างตัวเอง ที่ดูเหมือนแค่เป็นเรื่องของการหวงอำนาจ ที่จริงแล้ว คือการฝืนกระแสของโลก

เป็นความผิดพลาดที่ใหญ่กว่าการหวงอำนาจมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image