สถานีคิดเลขที่ 12 : แตกแบงก์ โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

สถานีคิดเลขที่ 12 : แตกแบงก์ โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

สัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นว่า นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามรวบรวมกำลังสนับสนุนเพื่อนำพารัฐบาลเดินหน้าต่อไป ด้วยยุทธวิธีให้พรรคร่วม และแกนนำพลังประชารัฐเอง ช่วยกันระดมมือไม้
ที่จะมาช่วยรัฐบาลในสภาได้

เช็กยอดกันแล้ว หลังจากทีมผู้กองออกไปตั้งพรรคใหม่

รัฐบาลยังมีเสียง ส.ส.ในมืออีก 260-264 เสียง

เกินครึ่งของสภาผู้แทนฯ มาไม่มากนัก เป็นตัวเลขที่ยังเสียวอีกพอสมควร

Advertisement

สำหรับศึกหนักของรัฐบาล การอภิปรายทั่วไป 17-18 ก.พ. อาจจะทำให้เกิดแผล ฟกช้ำดำเขียวบ้าง แต่ไม่มีอะไรแตกหัก

ช่วงที่ต้องเฝ้าระวัง คือเดือน เม.ย.-พ.ค. ที่จะเปิดสมัยประชุมสามัญฯ ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ

สภาเปิด 22 พ.ค. ถ้าฝ่ายค้านรีบยื่นญัตติไม่ไว้วางใจ นายกฯ จะยุบสภาไม่ได้

Advertisement

เว้นแต่จะมีการถอนญัตติ หรือลงมติแล้ว คะแนนไว้วางใจยังมากกว่า

เป็นไปตามมาตรา 151 วรรค 2 และวรรค 4 ของรัฐธรรมนูญ 2560

จุดนี้เอง ที่แวดวงพรรครัฐบาลกังวลว่า หากฝ่ายตรงข้าม พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งไม่ใช่ฝ่ายค้าน เดินเครื่องหนัก คะแนนไว้วางใจไม่พอ ก็ยุ่งเหมือนกัน

เรื่องอย่างนี้ประมาทไม่ได้ ในปีสุดท้ายของรัฐบาล ที่สำคัญเรื่องอย่างนี้เคยเกิดมาแล้ว ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อเดือน ก.ย. 2564

ที่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน คือ เดือน ส.ค. จะเป็นช่วงที่นายกฯ ทำงานครบ 8 ปี
ถ้านับจาก ส.ค. 2557

รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรค 4 ห้ามนายกฯดำรงตำแหน่ง 8 ปี

ต้องไปพึ่งองค์กรที่มีอำนาจให้ชี้ขาด ก็อยู่ที่ว่า จะให้เริ่มนับเมื่อไหร่

ถ้าเริ่มจาก 2557 ก็จะครบ 8 ปีแล้ว ถ้าเริ่มจาก 2560 จะอยู่ได้ถึง 2568 หรือถ้าเริ่มจาก 2562 ก็อยู่ได้ถึง 2570

ขณะที่ทาง พล.อ.ประยุทธ์เอง คงไม่ยอมให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
ได้ง่ายๆ

ต้องระดมสรรพกำลังออกมาลุยเต็มที่ เป้าหมายคืออยู่ให้ถึงปลายปี 2565 เพื่อทำหน้าที่ประธานเอเปคให้เรียบร้อย

หลังจากนั้น ค่อยมาว่ากัน ว่าจะยุบสภาหรือปล่อยยาวจนถึงวันหมดวาระในเดือน มี.ค. 2566 แล้วเลือกตั้ง

ถ้าไปถึงจุดนั้น หรือไม่ถึงจุดนั้น แต่มีเหตุต้องเลือกตั้งก่อน จะยุ่งไปอีกแบบ

ต้องถามว่าพรรคพลังประชารัฐพร้อมเลือกตั้งไหม

โดยเฉพาะในสภาพที่เกิดการ “แตกแบงก์” อย่างที่เห็น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image