สถานีคิดเลขที่ 12 : กลัวไม่ยุบ-ยุบไม่กลัว โดย จำลอง ดอกปิก

สถานีคิดเลขที่ 12 : กลัวไม่ยุบ-ยุบไม่กลัว ‘บิ๊กป้อม’ - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

‘บิ๊กป้อม’ – พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ บอกใบ้ ฤกษ์ยุบสภา

ชี้หลังรูดม่านการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค (พฤศจิกายน) เป็นช่วงเวลาเหมาะสม คืนอำนาจประชาชน

แม้ออกตัวว่า เป็นความคิดส่วนตัว

มิได้หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้ถืออำนาจยุบสภาแท้จริงก็ตาม

Advertisement

แต่เมื่อเป็นคำพูดของรองนายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งมีตำแหน่งเป็นถึงหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐพรรคการเมือง ที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ และเป็นแกนหลัก สนับสนุนรัฐบาล ให้ดำรงคงอยู่

จึงเป็นคำพูดที่ค่อนข้างมีน้ำหนัก

แม้แต่รัฐมนตรีบางท่านก็ยังเชื่อว่า อาจมีการวางไทม์ไลน์กันไว้อย่างนั้นก็ได้

Advertisement

อันที่จริง หากนายกฯตัดสินใจ หลังเสร็จสิ้นการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค ตามคำบอกกล่าวบิ๊กป้อม

ก็ไม่ถือว่า ยุบสภาเร็วแต่อย่างใด

เนื่องจากหากยังไม่ยุบ อีกเพียง 4 เดือนนับจากพฤศจิกาฯ รัฐบาลจะอยู่ครบ 4 ปี สิ้นสุดวาระ ต้องจัดเลือกตั้งใหม่อยู่ดี

ยุบสภา เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของนายกรัฐมนตรี

ที่เปิดไว้ให้ใช้กว้างๆ

แต่ประเทศไทย ไม่มียุคสมัยใด ที่นายกฯจะใช้ เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในทางการเมืองแตกต่างกับรัฐบาลในชาติยุโรป หรือแม้แต่เอเชียบางประเทศ นายกฯมักยุบสภาในช่วงที่ได้รับความนิยมจากประชาชนสูง เพื่อเป็นหลักประกันให้ได้กลับมาบริหารอีกครั้ง และอย่างมั่นคงมากขึ้น จากการได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้น

นายกรัฐมนตรีของไทย จะตัดสินใจยุบสภา ก็ต่อเมื่อไม่สามารถลากต่อได้อีก

เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในรัฐสภา หรือระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล

การปูดข่าว ช่วงเวลาว่าง ซึ่งคงหมายถึงว่างเว้นจากภารกิจสำคัญ เหมาะควรแก่การยุบสภา คือหลังการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปคนั้น

ไม่เพียงเท่ากับว่าไม่ยุบสภาเร็ว เนื่องจากใกล้สุดสิ้นวาระดำรงตำแหน่ง

แต่ยังเป็นช่วงที่คาดการณ์กันว่า สถานการณ์การเมืองจะร้อนแรง พีคสุด

เนื่องจากเป็นช่วงที่รัฐบาลเผชิญมรสุมหลายลูก ไม่ว่าจะเป็น วาระดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ที่จะครบในเดือนสิงหาคม ฝ่ายค้านเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การแก้ไขกฎหมายลูก 2 ฉบับที่คงเสร็จสิ้น และมีผลบังคับใช้ ต่างก็จะเป็นสองแรงบวกกดดัน บิ๊กตู่ยุบสภา

และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจสำคัญในมุมของรัฐบาล หากจะคืนอำนาจในช่วงนั้น ก็ถือว่าเป็นการถอดชนวน

คลายความอึดอัดของสังคม

เรื่องยุบสภา ที่จริงไม่มีข้อบัญญัติ กฎหมายบังคับ

ขึ้นอยู่กับนายกฯ จะตัดสินใจเมื่อไหร่ก็ได้

ที่ผ่านมา มีเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ การบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากฝ่ายค้าน และนักวิชาการ อย่างกว้างขวางต่อเนื่อง

ข้อเท็จจริง มีผลงาน ประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศ หรือว่าล้มเหลว

ประชาชนสัมผัสจับต้องได้ด้วยตัวเอง มิพักต้องมีใครชี้นำ

สายงานในฝ่ายนิติบัญญัติ กลไกสภาทำงานเป็นปกติหรือไม่ ภาพล่มซ้ำซาก ประชุมทุลักทุเล เป็นคำตอบเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี

มีเสียงเรียกร้องคืนอำนาจ แต่นายกฯยืนกราน ไม่ยุบสภา

เนื่องจากเป็นสิทธิ เป็นอำนาจ ไม่มี กฎหมายบังคับ

และเป็นธรรมดาอยู่เอง ที่รัฐบาลก็ย่อมต้องมองเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ งานแย่ เสมอเป็นเรื่องการเมือง ฝ่ายตรงกันข้ามโจมตี ลดความน่าเชื่อถือ

ไม่เช่นนั้น คงไม่มีคำพูดที่ว่า ‘ทำผิดอะไร’ ออกมา

รัฐบาลมั่นใจ มีผลงาน ประชาชนนิยมชมชอบ

แต่ก็แปลก ที่ดูเหมือนกลัวการเลือกตั้ง ไม่อยากได้ยินคำ ยุบสภา

ไม่จวนตัวเผชิญปัญหา ไม่ตัดสินใจ

หรือว่า แท้จริง หวาดผวาคำพิพากษาประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image