สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘เรื่องโจ๊ก?’ จาก ‘โพลออนไลน์’

สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘เรื่องโจ๊ก?’จาก‘โพลออนไลน์’ ในกระแสข่าวการเลือกตั้งผู้ว่าฯ

ในกระแสข่าวการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

นอกจากสำนักโพลกระแสหลักเจ้าใหญ่ๆ จะออกมาสำรวจคะแนนความนิยมของผู้สมัครแล้ว

ยังมีสำนักข่าวหลายแห่งที่พยายามทำโพลออนไลน์สำรวจคะแนนนิยมของแคนดิเดตผู้ว่าฯ คู่ขนานไปด้วย

ในฐานะคนที่ทดลองทำงานประเภทหลังอยู่เช่นกัน ขออนุญาตตั้งข้อสังเกตบางประการ ทั้งที่เป็นข้อจำกัดและประโยชน์/คุณค่าของการทำโพลบนแพลตฟอร์มออนไลน์

Advertisement

เริ่มด้วยข้อจำกัด

ประการแรก ถ้าเราทำโพลผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น ทวิตเตอร์ ยูทูบ และเฟซบุ๊ก

ปัญหาเชิงเทคนิคที่เลี่ยงไม่พ้น ก็คือ แพลตฟอร์มเหล่านั้นเปิดโอกาสให้เราสร้างตัวเลือกได้ในจำนวนจำกัด

Advertisement

ในกรณีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ต้องยอมรับว่า แค่แคนดิเดตเบอร์หลักๆ (ประมาณ 7-8 ราย) ก็มีจำนวนมากเกินกว่าตัวเลือกที่สามารถเปิดได้ในโพลของโซเชียลมีเดียเสียแล้ว

นี่นำมาสู่ปัญหาเชิงอัตวิสัย ว่าสำนักข่าวต่างๆ ที่ทำโพลออนไลน์ จะตัดแคนดิเดตคนไหนออกไปจากการเป็นตัวเลือก? ด้วยเหตุผลอะไร?

(ปัญหาชุดนี้แก้ไขได้ด้วยการหันไปพึ่งพาเว็บไซต์ที่ให้บริการด้าน “แพลตฟอร์มโพลออนไลน์” โดยเฉพาะ)

ประการถัดมา ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าโพลออนไลน์ นั้นมุ่งสื่อสารกับประชากรกลุ่มที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสื่อสาร-แสดงความคิดเห็นในชีวิตประจำวัน

แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างที่จะตกหล่นไป ก็ได้แก่ประชากรที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต หรือมิได้ใช้ชีวิตประจำวันในโลกออนไลน์อย่างกระตือรือร้น

ยิ่งกว่านั้น ความจริงอีกประการที่หลบเลี่ยงได้ยาก คือ ณ ปัจจุบัน ความแตกแยกและการแบ่งกลุ่มอุดมการณ์ทางการเมือง ได้เกาะเกี่ยวเข้ากับอัตลักษณ์ทางการเมืองของแต่ละสำนักข่าว และจุดยืนของผู้ชม-ผู้อ่านของสำนักข่าวนั้นๆ อย่างแนบแน่นลึกซึ้ง

โพลออนไลน์ของทุกสำนักข่าว จึงมีแนวโน้มจะเป็นกระจกสะท้อนความนึกคิดของผู้คนในกลุ่มการเมืองหนึ่งๆ มากกว่าจะเป็นเครื่องชี้วัดความนิยมต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางและ “เป็นกลาง”

กระนั้นก็ดี ประโยชน์/คุณค่าของโพลออนไลน์ยังมีอยู่ หากเราประเมินข้อมูล-ผลลัพธ์ที่ได้มา โดยตระหนักถึงข้อจำกัดของมัน

สิ่งแรกที่คนทำโพลออนไลน์ต้องพยายามวิเคราะห์ให้ออก ก็คือ ผู้คนที่เข้ามาแสดงความเห็นในโพลของตน ถือเป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรที่มีสัดส่วนประมาณเท่าไหร่จากผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด?

พูดอีกอย่างได้ว่า ก่อนจะแสวงหาข้อเท็จจริงหรือสภาวะที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด เราอาจต้องทราบถึง “ค่าเบี่ยงเบน” ของโพลเสียก่อน

กรณีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ถ้าเราอ้างอิงผลคะแนนจากการเลือกตั้งครั้งก่อนที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว สัดส่วนประชากรผู้ลงคะแนนก็แทบจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ในลักษณะครึ่งต่อครึ่ง

หากลักษณะเช่นนั้นยังไม่แปรผันไป โพลออนไลน์ของสำนักข่าวต่างๆ ก็อาจมีสถานะเป็น “ความจริงครึ่งเดียว”

อย่างไรก็ตาม ถ้าย้อนหลังไปใกล้กว่านั้น โดยยึดเอาผลคะแนนในการเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่-จตุจักร มาเป็นตัวแบบ

สัดส่วนคะแนนระหว่างขั้วการเมืองใหญ่สองขั้วก็ดูเหมือนจะมิได้มีลักษณะ 50/50 อีกแล้ว ทว่า น้ำหนักของคะแนนเกินครึ่งได้เทมาทาง “ขั้วประชาธิปไตย/ต้านรัฐบาล” มากกว่าจะไหลไปทาง “ขั้วไม่ประชาธิปไตย/นิยมรัฐบาล”

หากผลเลือกตั้งที่หลักสี่-จตุจักร คือ ภาพสะท้อนของกรุงเทพฯ ทั้งหมด โพลออนไลน์ของสำนักข่าวแต่ละแห่ง ก็ย่อมจะมิได้สะท้อนถึง “ความจริงครึ่งเดียว” อย่างเท่าเทียมกัน

แต่อาจมีโพลออนไลน์ของบางสำนักที่ยึดกุม “ความจริงเกินครึ่ง” เอาไว้ ขณะที่โพลออนไลน์ของอีกสำนักอาจบ่งชี้ “ความจริงไม่ถึงครึ่ง”

ถ้าวิเคราะห์ผลโพลออนไลน์บนพื้นฐานของ “ข้อจำกัด-ค่าเบี่ยงเบน” ดังกล่าว เราก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างไม่ผิดฝาผิดตัว

และไม่ต้องทิ้งขว้างให้โพลเหล่านั้นเป็นเพียง “เรื่องโจ๊ก” ไร้สาระ

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image