สถานีคิดเลขที่ 12 : เศรษฐกิจ-ความมั่นคง?

สถานีคิดเลขที่ 12 : เศรษฐกิจ-ความมั่นคง?

สถานีคิดเลขที่ 12 : เศรษฐกิจ-ความมั่นคง?

ปัญหาเศรษฐกิจ สลับเข้ามาแทนที่โรคภัยไข้เจ็บ กลายเป็นโจทย์ใหญ่ ท้าทายฝีมือรัฐบาล
ที่ชูความมั่นคงเป็นจุดขายสำคัญอีกครั้ง

แตกต่างกับอีกหลายชาติ โดยเฉพาะประเทศเสรีประชาธิปไตย ที่มุ่งเน้น ให้ความสำคัญกับการทำสงครามเศรษฐกิจ

มองเรื่องปากท้อง เป็นความมั่นคงของยุคสมัยปัจจุบัน

ทั้งของชาติ และของรัฐบาล

Advertisement

ประเทศไทยตกอยู่ในวังวนปัญหา เผชิญกับโควิดระบาดมาตั้งแต่ปี 2563 เช่นเดียวกับชาติต่างๆ ทั่วโลก

โควิดเป็นปัญหาเร่งด่วนสำคัญลำดับแรก ที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อรักษาชีวิตผู้คน ทรัพยากรอันทรงคุณค่าของประเทศ

การจัดยาแรง ออกมาตรการคุมเข้ม สกัดกั้นการแพร่ระบาด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ท่องเที่ยว การบิน บริการ อาหาร เดือดร้อน ธุรกิจชะงักงัน กระทบการจ้างงาน ห่วงโซ่การผลิตเป็นทอดๆ

เศรษฐกิจโลกถดถอย การค้าระหว่างประเทศตกต่ำ

เมื่อโควิดซา หลายประเทศกลับมาฟื้นตัว เร็วช้าขึ้นอยู่กับการจัดหาหยูกยา ประชาชนเข้าถึงวัคซีน และนโยบายกอบกู้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ประเทศไทยประกาศตัวประสบความสำเร็จ ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในประเทศต้นแบบแก้ปัญหาโควิด

แต่ดูเหมือนการจัดสมดุล ระหว่างปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ กับเศรษฐกิจ ทำได้ไม่ดีนัก

ในขณะที่ชาติต่างๆ ฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2564

แต่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย เพิ่มขึ้นเพียง 1.6% หักลบจากปี 2563 ก่อนหน้า ที่จีดีพีติดลบ 6% กว่า

ไทยยังติดลบอยู่ถึง 4% กว่า ปีนี้คาดว่าจะบวก 3.5-4% ก็ยังแก้ติดลบไม่ได้อยู่ดี

ปากท้องพลเมืองหมองแห้ง รายได้ต่ำ

ซ้ำร้าย ข้าวของ สินค้าจำเป็นต่อชีวิตประจำวันราคาพุ่งสูงตามต้นทุน ราคาน้ำมันโลกแพงขึ้นจากสถานการณ์สงคราม

ประชาชนก็ยิ่งเดือดร้อนหนัก

จากภาวะเงินเฟ้อ ที่เกิดจากต้นทุนที่ต้องจ่ายซื้อแพงขึ้น

มิได้แพง เกิดเงินเฟ้อขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจกระเตื้อง ประชาชนมีเงินจับจ่าย แย่งกันซื้อ ทำให้สินค้าแพงอย่างเช่นที่เป็นในสหรัฐอเมริกา

กระทั่งเฟดหรือธนาคารกลาง ขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ร้อยละ 0.5สู่ระดับ 0.75-1% เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ

ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ร้อยละ 0.5

นักวิเคราะห์ต่างชาติคาดการณ์ว่า ณ สิ้นปี เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย จนแตะที่ 2.50-2.75%

นั่นจะทำให้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทย สหรัฐ ถ่างกว้างขึ้นอีก และแน่นอนว่าจะเกิดเงินทุนไหลออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มีแนวโน้มสูงยิ่ง ที่ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงกว่าปัจจุบัน

นักวิเคราะห์ธนาคารพาณิชย์บางแห่ง ชี้ว่า อาจได้เห็น 35-36 บาท

บาทอ่อนก็มีทั้งด้านบวก และลบ

เป็นผลดีต่อการส่งออก แต่ก็ส่งผลเสียอย่างมากต่อสินค้านำเข้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำมันที่ปัจจุบันก็ทรงตัวในระดับสูง

นั่นก็จะทำให้ราคานำเข้าแพงต่อเนื่อง

สินค้าในประเทศขยับขึ้นราคาตามตัวเลขเงินเฟ้อทะยานเพิ่ม

รัฐจะแก้ปัญหาอย่างไร ขึ้นดอกเบี้ยแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ดึง/ตรึงเงินทุน ห้ามเลือด หยุดไหลออก รักษาค่าบาท อย่างนั้นหรือ

แล้วจะมี เครื่องมือใดมาทดแทน นโยบายการเงิน เพื่อช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่มาตรการการคลังถังแตก ไม่มีงบประมาณ (กู้วุ่น) มาอัดฉีด ฟื้นฟู ยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ปลุกตลาดแรงงาน รายได้ภาคธุรกิจและครัวเรือน ให้กลับมาฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็ง

นี่เป็นโจทย์ท้าทายความรู้ ความสามารถในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลอย่างยิ่ง

เป็นงานละเอียด ที่ต้องจัดวางสมดุลให้ดี และยากยิ่งกว่าโควิดมากนัก เนื่องจากยึดแบบเดินตามรอยการแก้ปัญหา (ระบาด) ของต่างชาติมาใช้ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้

พื้นฐาน เนื้อในเศรษฐกิจต่างกัน

หากวางน้ำหนักไม่ดี อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง เกิดเป็นปัญหาซ้อนปัญหา

การเลือกแก้แบบไม่แก้ในปัจจุบัน รอปัจจัยภายนอกคลี่คลาย เป็นวิธีการหนึ่ง

แต่ก็เปลืองเนื้อเปลืองตัว ให้กับคำถาม มีรัฐบาลไว้ทำไม

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image