สถานีคิดเลขที่ 12 : บิ๊กตู่อยู่หรือไป

สถานีคิดเลขที่ 12 : บิ๊กตู่อยู่หรือไป เกิดการตอบโต้กันทางการเมือง

เกิดการตอบโต้กันทางการเมืองก่อนเปิดสมัยประชุมสภาในพฤษภาคมนี้

พรรคฝ่ายค้านประกาศล้มรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แน่ภายในเดือนสิงหาคม ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลยืนยันว่าอยู่ครบเทอม

ฝ่ายค้านเปิดจุดเสี่ยงของรัฐบาลทั้งการพิจารณางบประมาณปี 2566 ทั้งการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งข้อข้องใจเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี

โฟกัสไปที่ประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกฯเกิน 8 ปี เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญระบุว่าไม่ต้องการให้ใครเป็นนายกฯเกินกว่า 8 ปี

Advertisement

พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯมาตั้งแต่ปี 2557 พอเข้าสู่ปี 2565 ก็นับเวลาได้ 8 ปีในเดือนสิงหาคม

แต่ฝ่ายกฎหมายรัฐบาลยืนยันว่า 8 ปีที่รัฐธรรมนูญกำหนดนั้น ต้องเริ่มหลังรัฐธรรมนูญปัจจุบันประกาศใช้ คือ หลังปี 2560

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสงสัยจากสังคมว่า คำว่าเริ่มนับหลังปี 2560 นั้น คือ ให้นับตั้งแต่ปี 2560 หรือให้นับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562

Advertisement

ส่วนพรรคฝ่ายค้านนั้นมั่นใจว่าตั้งนับตั้งแต่ปี 2557 เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกฯมาตั้งแต่เวลานั้น

และเมื่อคราที่มีข้อสงสัยว่า ผู้เป็นรัฐมนตรีจากรัฐบาลเดิมเมื่อเข้าดำรงตำแหน่งในรัฐบาลใหม่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ ป.ป.ช.เคยระบุว่า ไม่ต้องยื่น

ถือเป็นการยืนยันว่า ต้องนับเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯต่อเนื่อง

จากข้อมูลของฝ่ายค้าน ลองพลิกไปดูข่าวหลังมีรัฐบาลชุดปัจจุบันเมื่อกรกฎาคม 2562

พบว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 ป.ป.ช.ได้กล่าวถึงขั้นตอนการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของคณะรัฐมนตรี ปี 2562

ระบุในส่วนของคณะรัฐมนตรี หากเป็นรัฐมนตรีชุดเดิมที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีใหม่ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน เพราะจะยึดจากการยื่นบัญชีในครั้งแรกที่เข้ารับตำแหน่ง แต่ไม่ห้าม หากใครจะยื่นไว้เป็นหลักฐาน เพื่อให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น

หรือหาก ป.ป.ช.มีเหตุอันควรสงสัยเรื่องบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใด สามารถขอให้ชี้แจงได้

สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเพิ่มอีกตำแหน่งหนึ่งก็ไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน เพราะเป็นการปรับตำแหน่งในระยะเวลาไม่เกิน 30 วันหลังพ้นจากตำแหน่งเดิม

ข้อความดังที่ปรากฏ กลายเป็นความมั่นใจที่มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้ว

เมื่อมีข้อขัดแย้งย่อมมีการร้องตีความวินิจฉัย

ประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี จึงส่งผลกระทบทั้งด้านการเมืองและกฎหมาย

อย่าลืมว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์เคยถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” มาแล้ว

เรื่องดังกล่าวพรรคฝ่ายค้านเคยนำไปอภิปรายในสภา เคยส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งผลทางกฎหมายไม่สามารถทำอะไร พล.อ.ประยุทธ์ได้ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้รับผลกระทบทางการเมือง

เฉกเช่นเดียวกับกรณี “นาฬิกาลุงป้อม” ที่แม้ในที่สุด ป.ป.ช.จะยืนยันว่าไม่มีความผิด แต่กรณีดังกล่าวก็ทำให้บิ๊กป้อมได้รับผลกระทบทางการเมืองไม่ใช่น้อย

ดังนั้น ในกรณีการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องจับจ้องเฝ้ามองผลสรุปทั้งด้านกฎหมายและการเมือง

ยิ่งเวลานี้จำนวนเสียงโหวตในสภามีความไม่แน่นอน

ด้วยปัจจัยต่างๆ ฝ่ายค้านจึงประกาศ สิงหาคมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องไป ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลสู้สุดฤทธิ์อยู่แล้ว

เมื่อฝ่ายค้านมั่นใจ ฝ่ายรัฐบาลก็มั่นใจ

จึงไม่แปลกที่แนวปะทะทางการเมืองของ 2 ขั้วจะดุเดือดกันตั้งแต่ยังไม่เปิดประชุมสภา

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image