สถานีคิดเลขที่ 12 : เลือกผู้ว่าฯเงาเลือกตั้งใหญ่

สถานีคิดเลขที่ 12 : เลือกผู้ว่าฯเงาเลือกตั้งใหญ่

เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ระเบิดศึก อาทิตย์ 22 พฤษภาฯ

สัปดาห์สุดท้าย ก่อนเปิดคูหา การแข่งขัน คึกคักเข้มข้นเป็นที่ยิ่ง

ไม่เฉพาะแนวรบ ระหว่างฝ่าย ที่นักวิชาการเรียก ปีกประชาธิปไตย กับสายอนุรักษ์ ฝักใฝ่อำนาจพิเศษเท่านั้น

ในฟากฝ่ายเดียวกัน ก็ไม่มีใครยอมใคร

Advertisement

ฝั่งอนุรักษ์ ใกล้ชิดขั้วอำนาจปัจจุบันนั้น เราได้เห็นภาพ ผู้สมัคร ส.ก. พลังประชารัฐ อย่างน้อย 17 คน สลัดทิ้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

ไม่ยอมรับสัญญาณ ของผู้มากบารมีพรรค

เบนเข็ม สนับสนุน สกลธี ภัททิยกุล

Advertisement

ด้วยเหตุผล พล.ต.อ.อัศวินนั้น ส่งและมีกลุุ่มผู้สมัคร รักษ์กรุงเทพ สนับสนุนอยู่แล้ว

อีก 1 เหตุผล เป็นความจำเป็นด้านการเมือง

การอิงแอบแนบชิด สกลธี มีโอกาสลุ้นมากกว่า

เสียงตอบรับลงพื้นที่ ออกมาเชิงบวกระดับหนึ่ง

ไม่เฉพาะผู้สมัคร ส.ก.

ในส่วนเก้าอี้ใหญ่สุด ตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ปรากฏความเคลื่อนไหว ในทิศทางเดียวกัน

นั่นคือ บรรดาขาใหญ่ หัวขบวนสายอนุรักษ์ ใกล้ชิดขั้วอำนาจ
ต่างเปิดหน้า ออกมาเรียกร้องอย่างเป็นขบวนการ

ปลุกเลือกเชิงยุทธศาสตร์ กาหมายเลข 3 สกลธี

ปัดฝุ่นฟื้นยุทธวิธี ที่เคยใช้ได้ผล ไม่เลือกเรา เขามาแน่ มาใช้อีกครั้ง

เชิญชวนคนกรุง แนวร่วมไม่เอา เครือข่ายนายห้างดูไบ เทคะแนนให้สกลธีคนเดียว

เรียกร้องผู้สมัครกลุ่มอนุรักษ์ เสียสละ

ส่งสัญญาณ ผู้สนับสนุน เทเลือกเบอร์ 3

ชี้ว่า หากคะแนนกระจาย เป็นเบี้ยหัวแตก จะ สู้ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไม่ได้

การชู เลือกเชิงยุทธศาสตร์ เป็นเรื่องที่ทำได้ อยู่ในกรอบกติกา

แต่จะเป็นประโยชน์ต่อคนกรุงเทพมหานครหรือไม่ เชื่อว่าประชาชนทั่วไป และชาว กทม.ตัดสินได้

และเมื่อต้องเลือกผู้ว่าฯ เลือกผู้บริหารสูงสุด

ควรเลือกผู้สมัครที่เสนอตัว โดยอยู่บนพื้นฐาน การเมืองนำ

หรือต้องเลือกให้ความสำคัญ กับนโยบายที่นำเสนอ ควบคู่กับพิจารณาตัวบุคคล

ความเป็นไปได้จริง ของการแปรนโยบายที่ชูเป็นจุดขาย ไปสู่รูปธรรมการปฏิบัติ

คำถามที่เสนอเข้ามา ก็คือ หากเลือกเชิงยุทธศาสตร์

ให้ความสำคัญกับเรื่องการต่อสู้ทางการเมือง ฝ่ายเขา ฝ่ายเรา

ผู้สมัครไม่จำเป็นต้อง นำเสนอนโยบายแข่งขัน หรือเสนออะไรก็ได้ อย่างนั้นหรือ

การเลือกเชิงยุทธศาสตร์ เป็นด้านการยกระดับคุณภาพการเมือง หรือนำพาล้าหลัง

การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในรอบ 9 ปี นับแต่มีการยึดอำนาจการปกครองประเทศ ยึดอำนาจ กทม. แต่งตั้ง ผู้ว่าฯมาดำรงตำแหน่ง

เป็นภาพย่อย ของการต่อสู้ใหญ่ การเมืองระดับชาติ

ที่สัมผัสจับต้องได้ ถึงความเป็นสงครามตัวแทน

เป็นตัวแทน ฝ่ายประชาธิปไตย กับฝ่ายอนุรักษนิยม เอนเอียงฝักใฝ่วิธีพิเศษ

สุดท้ายไม่ว่า ใครเข้าป้ายก็ตาม มีแนวโน้มความเป็นไปได้อย่างมาก ที่การเลือกตั้งใหญ่ ส.ส. สนามต่อไป

ระหว่างฝ่ายที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นตัวยืน กับฝั่งพรรคเพื่อไทย

จะวนกลับลูปเดิม ย่ำรอยเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้

นั่นคือ ฝ่ายหนึ่งเน้นขายนโยบาย อีกฝ่ายเน้น แบ่งฝ่าย ชูการเมือง ปลุกเลือกเชิงยุทธศาสตร์ ให้ความสำคัญกับนโยบาย เป็นด้านรอง

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เป็นแค่สงครามตัวแทน

ยังขนาดนี้

เลือกตั้งใหญ่ ตัวจริงทั้งนั้น ใครเป็นใคร แถมเดิมพันสูงแพ้ไม่ได้

การเข้ามาของ แพทองธาร ชินวัตร เพื่อไทยมองเป็นตัวช่วย ปลุกแลนด์สไลด์

แต่พลังประชารัฐอาจมองเป็นโอกาสทอง

ปั่นกระแสเลือกเชิงยุทธศาสตร์สู้ในแบบฉบับการเมืองเก่า

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image