สถานีคิดเลขที่ 12 : หลัง ‘พ.ค.’ – ‘ทหาร’ ไกลหรือใกล้

วงเสวนา “3 ทศวรรษ พฤษภามหาโหด People Power ฝันไกลที่ไปไม่ถึง” ที่มติชนสุดสัปดาห์ ร่วมกับ ศูนย์ข้อมูลมติชน จัดขึ้นที่หอประชุมข่าวสด เมื่อ 19 พฤษภาคม

วิทยากร ที่เข้าร่วม รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ และ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ “บก.ลายจุด” ดำเนินรายการโดย นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ เห็นและหวังร่วมกันคือ ทหารควรถอนตัวออกจากการเมือง

แต่ขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตย หวังเช่นนั้น

รศ.ดร.ปริญญา ก็เตือนให้ตระหนักเช่นกันว่าฝ่ายที่ก้าวสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร ก็ปรับตัว เพื่ออยู่ยาว หรือสืบทอดอำนาจ เช่นกัน

Advertisement

จริงหรือไม่ รศ.ดร.ปริญญา เชิญชวน ให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นักร่างรัฐธรรมนูญมาช่วยตอบ

ซึ่งก็คงไม่ได้คำตอบหรอก

แต่กระนั้นพลิกดูรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็มีประจักษ์พยานเต็มไปหมด

Advertisement

เฉพาะเรื่อง ที่ฝ่ายประชาธิปไตยหวังให้ทหารกลับเข้ากรมกองนั้น ก็ยากแล้ว

รัฐธรรมนูญ ปี 2560 แม้พยายามประแป้ง ให้สมาชิกวุฒิสภา “ลากตั้ง” ให้ดูดี

เช่น จะต้องไม่เป็นข้าราชการ

แต่ในบทเฉพาะกาล กลับเปิดช่องให้ข้าราชการประจำมาดำรงตำแหน่ง ส.ว.ด้วย 6 คน
ได้แก่

ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการ ทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ

สะท้อนว่า ผู้ออกแบบ ผู้ร่าง ให้น้ำหนักฝ่ายความมั่นคงโดยเฉพาะทหารอย่างสูง จึงให้สิทธิพิเศษ

แม้ที่ผ่านมา ผู้บัญชาการเหล่าทัพจะลดโทน ความเจิดจ้าบาดตาด้วยการ ไม่เอาเงินเดือน ส.ว.บ้าง หรือเลือกที่จะโดดประชุม ไม่ร่วมโหวตในวาระสำคัญที่มีส่วนได้เสียทางการเมืองสูงๆ

แต่กระนั้น กองทัพก็ถูก “คา” เป็นสัญลักษณ์อยู่ในรัฐธรรมนูญตลอดมา

จึงเป็นการบอกกลายๆ ว่า ที่จะให้ กองทัพถอยออกจากการเมือง นั้นยาก

ขณะที่ “นอกรัฐธรรมนูญ” กลไกของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภายหลังจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2565 ก็ถูกวางแทรกซึมไว้ในกลไกของรัฐเอาไว้อย่างมากมายและลงลึกไปถึงระดับท้องถิ่น

นี่คือปัญหาในระดับโครงสร้างสูงสุดไปจนถึงฐานราก ที่ตอกย้ำถึงอำนาจของกองทัพที่แทรกซึมเข้าไปหลังจากการรัฐประหาร

ที่ตลกร้ายไปกว่านั้น มิใช่เฉพาะโครงสร้างเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงเรื่อง “เฉพาะบุคคล” อีกด้วย

อย่างที่ทราบกัน ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน มีบุคลิกส่วนตัวที่เงียบๆ หลีกเลี่ยงอย่างที่สุดที่จะไม่พูด หรือแสดงจุดยืนทางการเมือง

เลยถูกมองว่า มีระยะห่างจาก “ผู้นำรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม”

จนมีเสียงซุบซิบ และมีข่าวลือว่า ในการโยกย้ายทหารในครั้งหน้านี้ “ฝ่ายการเมือง” อาจจะจัดแถวทหารใหม่ โดยอาจเลือกเอาคนของ ตัวเองมามี “ระยะใกล้” ช่วยยืนค้ำอำนาจให้

ข่าวนี้เอง ทำให้มีคนตั้งข้อสังเกตว่าในระยะหลังเราได้เห็นบทบาทของผู้นำเหล่าทัพออกมา แสดงจุดยืนทั้งในกรณีลาซาด้า รวมถึงกรณีรำลึกเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ในฝั่งฟากทหารด้วย

เหมือนจะยืนยันว่า คนในกองทัพไม่ได้ ไม่หือไม่อือกับเรื่องต่างๆ

ซึ่งตรงนี้เอง ทำให้ระยะห่างทางการเมือง กลายเป็นระยะใกล้มากขึ้น

และหลังจากนี้ ซึ่งกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไป

รวมถึงจะทราบผลการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. ที่อาจจะเป็นดัชนีชี้วัดว่า ฝ่ายกุมอำนาจที่มาจากการรัฐประหารจะได้ไปต่อหรือไม่ต่อในอนาคต

อาจบีบให้ ผู้นำทหารต้องแสดงอะไรบางอย่างมากขึ้นหรือไม่

ดังนั้น ที่หวังว่า ทหารจะถอยห่างจากการเมืองจึงไม่ง่าย?!?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image