สถานีคิดเลขที่ 12 : ทุกคนเคย ‘เลือกผิด’ กันมาทั้งนั้น

สถานีคิดเลขที่ 12 : ทุกคนเคย‘เลือกผิด’กันมาทั้งนั้น ท่ามกลางบรรยากาศ

ท่ามกลางบรรยากาศการเลือกตั้งที่เข้มข้น

หนึ่งในเรื่องที่หลายคนชอบวิเคราะห์ วิตกกังวล หรือบ่นกัน ก็คือ ทำไมผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยจึงยัง “เลือกตั้งกันแบบผิดๆ”

ทำไมคนเหล่านั้นจึงยังคงเลือกผู้สมัครคนนี้ จากพรรค/กลุ่ม/ฝั่งนี้ โดยไม่รู้สึกเข็ดหลาบกับ “ความผิดพลาด” ที่พวกเขาเคยมีส่วนก่อขึ้นให้แก่บ้านเมืองหรือประเทศชาติ

แต่เอาเข้าจริงแล้ว “การเลือกผิด” อาจถือเป็นเรื่องสามัญ ปกติ ธรรมดามากๆ สำหรับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

Advertisement

ในสนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ถ้าเราประเมินผลเลือกตั้งในปี 2528 และ 2533 ด้วยงานศึกษาประวัติศาสตร์บาดแผล 6 ตุลาคม 2519 ที่ถูกผลิตขึ้นในช่วงสองทศวรรษหลัง หรือประเมินด้วยความพังพินาศอันเกิดจากขบวนการปฏิปักษ์ประชาธิปไตยจากปลายทศวรรษ 2540 ถึงกลางทศวรรษ 2550

ก็คงต้องถือว่าคนกรุงเทพฯ ยุคนั้น “เลือกผิด”

Advertisement

เช่นเดียวกับความสลับซับซ้อนของผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในปี 2543 ที่อาจถูกประเมินด้วยกรอบการมองที่แตกต่างกันลิบลับ

ด้านหนึ่ง ถ้าเรามองผลเลือกตั้งครั้งนั้นด้วยแว่นตา “ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา” เราก็อาจตัดสินว่าคนกรุงเทพฯ เป็นพวกขวาจัด และ “เลือกผิด” อีกแล้ว

แต่ถ้ามองจากแว่นตาของการต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยผ่านระบบเลือกตั้งหลังรัฐประหาร 2549 ผลลัพธ์ของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ หนนั้น ก็จะอาจถูกประเมินย้อนหลังให้กลายเป็น “ความถูกต้องทางการเมือง”

หรือเอาเข้าจริง หากพิจารณาจากสภาพของกรุงเทพมหานครในยุคปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยปัญหาหมักหมมนานัปการ ตั้งแต่เรื่องคุณภาพชีวิต ไปจนถึงความไม่เป็นธรรม-ความไม่เท่าเทียมในด้านต่างๆ

ก็คงต้องยอมรับว่าน่าจะมี “ความผิดพลาด” บางประการดำรงอยู่ในกระบวนการเลือก, ตัวผู้ได้รับเลือก และโครงสร้างอำนาจที่ครอบทุกอย่างเอาไว้

พร้อมๆ กันนั้น พลเมือง “ฝ่ายประชาธิปไตย” จำนวนไม่น้อย อาจมองด้วยอารมณ์สิ้นหวังว่า ผลการเลือกตั้งนับแต่ทศวรรษ 2550 เป็นต้นมา ทั้งในสนาม ส.ส.ระดับชาติ สนามผู้ว่าฯ และสนามท้องถิ่นของ กทม. ล้วนถือเป็น “ความผิดบาป” หรือ “ความผิดพลาดอันน่าละอาย” ของโหวตเตอร์เสียงส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ

ทว่า ในมุมกลับกัน หากไม่มีการ “เลือกผิด” ครั้งแล้วครั้งเล่าเหล่านั้น ก็คงจะไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการตื่นตัว-ตั้งคำถามของคนรุ่นใหม่ ความใฝ่ฝัน-ความปรารถนาทางการเมืองแบบใหม่ ตลอดจนความสิ้นหวังในการเมืองแบบเก่า

ปรากฏการณ์เหล่านี้คือผลลัพธ์ของ “การเลือกผิด” หนก่อนๆ อย่างไม่อาจปฏิเสธ

ท้ายสุด ต่อให้ผู้สมัครฝ่ายประชาธิปไตย (ไม่ว่าจะเป็นใคร จากพรรค/กลุ่ม/ฝ่ายไหน) ชนะเลือกตั้ง เราก็คงต้องเผื่อใจเอาไว้ว่า ในวันข้างหน้า เราอาจรู้สึกว่าตนเอง “เลือกผิด” หรือ “ผิดหวัง” ในตัวเลือกดังกล่าวได้เหมือนกัน

ดังนั้น ปัญหาของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่ได้อยู่ตรงการ “เลือกผิด”

เพราะเราในฐานะมนุษย์เดินดินทั่วไปสามารถ “เลือกผิด” กันได้เสมอตลอดเวลา

ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงต้องได้รับโอกาสให้มีสิทธิ “เลือก” อยู่เรื่อยๆ เป็นวาระประจำ อันจะนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้และแก้ไขความผิดพลาดของตัวเอง

“การไม่ได้เลือก” หรือมีอำนาจพิเศษ-นอกระบบเข้ามาแทรกแซงไม่ให้เราได้มีสิทธิ “เลือก” และเรียนรู้ตามกระบวนการต่างหาก ที่เป็น “ปัญหาแท้จริง” ของระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image