สถานีคิดเลขที่ 12 : เลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจว.

สถานีคิดเลขที่ 12 : เลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจว. ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก.

ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก. นอกจากจะสั่นสะเทือนไปถึงการเมืองใหญ่ในระดับประเทศ เปรียบเป็นกระแสฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งยังมองเลยไปว่าอาจจะหมายถึงโอกาสเปลี่ยนแปลงใหญ่ในการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศครั้งต่อไปอีกด้วย

ผลสะเทือนอีกประการก็คือ ความคึกคักของการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ยังทำให้กระแสการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กระจายออกไปยังจังหวัดอื่นๆ

มีความเคลื่อนไหวทั้งผ่านการสำรวจโดยโพล

ไปจนถึงการจัดกิจกรรมรณรงค์ในจังหวัดใหญ่ๆ หลายจังหวัด

Advertisement

มีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรม ที่เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น ภูเก็ต มีการจัดเลือกตั้งผู้ว่าฯจำลอง จัดชุมนุมชูป้ายเรียกร้องอยากเลือกตั้งผู้ว่าฯเอง จัดทำหนังสือยื่นต่อผู้ว่าฯ อะไรเหล่านี้

ประชาชนในหลายจังหวัด ยังแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ ผ่านโซเชียล อยากเลือกตั้งผู้ว่าฯเองบ้าง เหมือนกับที่คน กทม.และคนพัทยาได้เลือก

ขณะที่กระแสจากนักประชาธิปไตย ถึงขั้นเห็นว่า เราควรเลือกตั้งผู้ว่าฯในทุกจังหวัดทั่วประเทศ

Advertisement

มีการเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่เชื่อมั่นในหลักประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง บรรจุในนโยบายเพื่อหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วย

กระแสเลือกตั้งผู้ว่าฯไม่แค่ กทม. เริ่มเป็นประเด็นที่จะได้รับการกล่าวขานกันมากขึ้น แผ่กว้างไปมากขึ้น

ทั้งนี้ ด้วยความที่ผลเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก. ได้สร้างปรากฏการณ์ใหญ่หลายประเด็น

เช่น ลงคะแนนกันแบบแลนด์สไลด์ เพื่อให้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ามาเป็นผู้ว่าฯ

ประกอบเข้ากับความเชื่อมั่นในชัชชาติ ไม่ใช่กระแสที่แค่เห่อตามกันไป เนื่องจากได้พิสูจน์ให้เห็นมายาวนานแล้ว เข้าตาประชาชนมาโดยตลอด

ฉายารัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี หรือบุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ได้รับการยกย่องมาตั้งแต่ทำหน้าที่รัฐมนตรีในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์

ทุ่มเทจริงจัง แข็งแกร่ง ติดดิน และอ่อนน้อมถ่อมตน มีความรู้ความสามารถมากด้วยวิสัยทัศน์

อีกทั้งเมื่อได้รับเลือกตั้ง ก็เริ่มออกเดินเท้าพบปะประชาชน เริ่มทำงาน แบบต่อเนื่องทุกวันไม่มีหยุด

แทบจะเชื่อมั่นกันไปล่วงหน้าแล้วว่า ต้องทำงานได้สำเร็จลุล่วง คุ้มค่ากับการได้รับเลือกเข้ามา

เหล่านี้ทำให้คนในหลายๆ จังหวัด อยากได้มีโอกาสเลือกคนที่เข้ามาทำหน้าที่ผู้ว่าฯด้วยตัวเอง

คำว่า “มาจากการเลือกตั้ง” และ “มาจากการแต่งตั้ง” ให้คำอธิบายในตัวเองอย่างชัดเจน ว่าอันไหนคือสิทธิของประชาชน อันไหนคือการมีส่วนร่วมในส่วนเลือกเองของประชาชน

การเลือกตั้งในกรณีนี้ จึงถือได้ว่า ย่อมดีกว่าการแต่งตั้งโดยอำนาจจากส่วนกลาง แต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทยอย่างแน่นอน

ขณะเดียวกันก็ไม่น่าแปลกใจ ที่มีความพยายามจะสกัดกั้น ไม่ให้ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ลุล่วงราบรื่น

เพราะเครือข่ายผู้สนับสนุนอำนาจจากการแต่งตั้งโดยส่วนกลาง พากันหวาดผวากระแสความสำเร็จของการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

กลัวว่าจะกลายเป็นการจุดประกายให้ประชาชนทั่วประเทศตื่นตัว อยากเลือกตั้งผู้ว่าฯกันในทุกๆ จังหวัด

นั่นคือกระแสความเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมเต็มที่ ซึ่งขัดแย้งอย่างมากกับอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตยที่ยังครอบงำบ้านเมืองนี้อยู่

ขนาดที่มาของนายกรัฐมนตรีตามกติกาปัจจุบัน ก็ยังมี 250 ส.ว.มาอยู่เหนือเสียงประชาชนในวันเลือกตั้งอยู่เลย

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image