สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘เพื่อนชัชชาติ’ และ ‘การเมืองเก่า’

สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘เพื่อนชัชชาติ’และ‘การเมืองเก่า’ ไม่มีใครปฏิเสธ

ไม่มีใครปฏิเสธว่าจุดเด่นสองข้อที่ปรากฏขึ้นทันที ในการทำงานสัปดาห์แรกของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คือ (หนึ่ง) การทำงาน ทำงาน ทำงาน และ (สอง) การสื่อสารทางการเมืองกับสาธารณชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จุดเด่นประการที่สองนั้น อาจถูกประเมินว่าเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ (พีอาร์) ก็ได้ ทว่า ต้องยอมรับว่าผู้นำทางการเมืองทุกรายต่างมีกระบวนการประชาสัมพันธ์ตนเองเหมือนกันหมด

เพียงแต่ผู้นำบางคนพีอาร์ไม่ขึ้น ประชาชนไม่เชื่อว่าทำงานจริง แถมยังนำเอาภาพลักษณ์ที่ถูกสื่อสารออกมาไปทำมีมเชิงตลกขบขัน

ผิดกับกรณี “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ที่พีอาร์ขึ้น ผู้คนเชื่อว่าเขาลงมือทำงานจริง และหลายคนอินกับงานที่เขากำลังทำ

Advertisement

จุดเด่นข้างต้นนำมาสู่วัฒนธรรมการเมืองอีกแบบที่ห่างหายจากสังคมไทยไปนาน ซึ่งเราอาจเรียกง่ายๆ รวมๆ ได้ว่าวัฒนธรรมการเมืองแบบ “เพื่อนชัชชาติ”

นี่คือวัฒนธรรมทางการเมือง ที่ไม่มีพรรค แต่มีพวก ดูเหมือนจะไม่เล่นการเมือง แต่ก็มีเครือข่าย-ขุมพลังอันเข้มแข็งหนุนหลังอยู่ และคล้ายจะทวีจำนวนขึ้นตามลำดับ

กระทั่งไปๆ มาๆ ความร่วมมือ-เสียงสนับสนุนในลักษณะ “เพื่อนชัชชาติ” นั้นอาจใหญ่โตหลากหลาย และเสียงดังกว่าการลงหลักปักฐานอยู่กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

ทั้งหมดเกิดจากการทำงานในเชิงสร้างสรรค์ แล้วสื่อสารไปถึงคนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะคนชั้นกลาง-ชนชั้นนำในเมืองได้อย่างตรงเป้า จนผู้คนที่มีปากเสียงและเข้าถึงทรัพยากรทางสังคม-เศรษฐกิจกลุ่มนี้ ทยอยหลั่งไหลเข้ามาเป็นพันธมิตร ที่จะช่วยขยายขอบเขตการทำงานและการประชาสัมพันธ์ผลงานของ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ให้กว้างขวางออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ

คงคล้ายกับที่ในยุคหนึ่ง เราเคยมีวัฒนธรรมการเมืองแบบ “เพื่อนอานันท์”

วัฒนธรรมทางการเมืองเช่นนี้จะส่งผลอย่างไรต่อไปบ้าง?

ผลกระทบแรกที่เกิดขึ้นแล้ว คือ ภาพลักษณ์ของ “ผู้นำเมืองหลวงคนใหม่” ที่แอ๊กทีฟ นิสัยดี เข้าถึงปัญหา เป็นมิตรกับประชาชน มีไอเดียแหวกแนวมานำเสนอ ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของ “ผู้นำประเทศคนเก่า” ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มานานหลายปี ดูอ่อนด้อย-น่าสิ้นหวังลงไปอีก

ผลกระทบประการถัดมาที่น่าจะเกิดขึ้นในเร็ววัน ก็คือ สถานภาพของ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” บวกกับคะแนนเสียงเกือบ 1.4 ล้านเสียงของชาว กทม. ผนวกด้วยเครือข่ายผู้สนับสนุนที่ดูดีในแบบ “เพื่อนชัชชาติ” จะกลายเป็น “มาตรฐานใหม่” หรือ “ภาพเปรียบเทียบ” ที่ถูกนำไปวางคู่กับ “นักการเมืองระดับชาติ” ซึ่งมาจากการเลือกตั้งเช่นกันในสภาผู้แทนราษฎร

ด้านหนึ่ง พลังบวก ตลอดจนความหวังใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองหลวง อาจผลักดันให้สังคมคาดหวังกับการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรเยอะขึ้น และปรารถนาว่าเราจะได้นายกรัฐมนตรีที่มีคุณภาพสูงขึ้น

แต่อีกด้านหนึ่ง ตราบใดที่เสียงส่วนใหญ่ในสภายังดำรงตนเป็นฐานค้ำยันให้แก่ผู้นำที่หมดบารมีต่อไปเรื่อยๆ

หรือถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ แล้วเราได้นายกรัฐมนตรีที่ถูกมองว่า “ไม่มีคุณภาพเท่าชัชชาติ” แต่ได้รับชัยชนะมาเพราะปัจจัยอื่นๆ ตามกลไกอำนาจที่ดำรงอยู่จริงในการเมืองยุคปัจจุบัน เช่น พลังของบ้านใหญ่ตามจังหวัดต่างๆ หรือการกวาดต้อน ส.ส.เข้าพรรค ผ่านกระบวนการกระจายงบประมาณ

เมื่อนั้น พลังของวัฒนธรรมการเมือง “แบบชัชชาติ” ก็อาจแปรสภาพกลายเป็นอารมณ์ผิดหวังต่อบรรดา “นักเลือกตั้ง” หรือทัศนะวิพากษ์อันมีต่อการลงคะแนนเสียงที่ยังคงผูกพันกับระบบอุปถัมภ์ในต่างจังหวัด

เป็นการวนลูปกลับไปสู่สภาพการเมืองแบบ “สองนคราประชาธิปไตย” ช่วงทศวรรษ 2530 (หรือความรู้สึกแบบ กปปส. ซึ่งเห็นว่าคะแนนเสียงที่น้อยกว่าของคนกรุงเทพฯ มีคุณภาพมากกว่าคะแนนเสียงที่เยอะกว่าของคนต่างจังหวัด)

นี่อาจเป็นมิติเก่าๆ ทางการเมืองที่จะย้อนกลับมาหาสังคมไทย ซึ่งได้แต่หวังว่าประสบการณ์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา คงช่วยให้เรามีเครื่องมือแก้ปัญหาที่ดีกว่าแนวคิดเรื่อง “การเมืองของคนดี” หรือ “การทำรัฐประหาร”

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image