สถานีคิดเลขที่ 12 : ขอมือประชาชน

สถานีคิดเลขที่ 12 : ขอมือประชาชน ผ่านพ้นเรื่องร้อนเรื่องแรก สำหรับรัฐบาล

ผ่านพ้นเรื่องร้อนเรื่องแรก สำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อช่วงดึกวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา

มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ด้วยคะแนน 278 เสียง ไม่รับหลักการ 194 เสียง

งดออกเสียง 2 เสียง แม้พรรคร่วมอภิปรายกันอย่างดุเดือด เข้มข้น เปรียบเปรย ตั้งฉายา การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ของรัฐบาล อาทิ “งบเรียกค่าไถ่” “งบช้างป่วย” ไม่ตอบโจทย์ต่อการฟื้นฟูประเทศจากวิกฤตโควิดและเศรษฐกิจ จัดงบประมาณแบบไม่เห็นอนาคต มุ่งแต่แก้ปัญหาในอดีต

พร้อมกับมีการเดินเกมทางการเมืองขู่ว่าจะเช็กบิลรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ให้จอดป้ายด้วยการรวบรวมเสียงเพื่อคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ตั้งแต่วาระแรก

Advertisement

เป็นการตัดตอนไม่ให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เดินหน้าสร้างปัญหาโดยเฉพาะ การหยุดสร้างหนี้ให้กับประเทศไม่ให้มีไปมากกว่านี้

แต่ผลการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2566 กลับสวนทางกับบรรยากาศการอภิปรายฯ เพราะมติที่โหวตรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ของพรรคร่วมรัฐบาล

รวมทั้งกลุ่มตัวแปรทางการเมือง ทั้งกลุ่ม 16 พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา รักษาการเลขาธิการพรรค ศท. ลงมติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

Advertisement

ไม่มีแตกแถว หรือโหวตสวนแต่อย่างใด โชว์ความเป็นเอกภาพให้ผู้มีอำนาจได้เห็น แตกต่างจากการลงมติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ปรากฏปัญหาความไม่มีเอกภาพภายใน

เนื่องจากมี 7 ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย (พท.) 4 ส.ส.พรรคก้าวไกล (ก.ก.) 1 ส.ส. พรรคประชาชาติ (ปช.) ลงมติสวนกับจุดยืนของพรรคร่วมฝ่ายค้าน คือ โหวตรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ

ส่งผลให้พรรคร่วมฝ่ายค้าน ต้องกลับมาแก้ปัญหาภายในของแต่ละพรรค โดยเฉพาะปัญหาความไร้เอกภาพ ยิ่งในข้อเท็จจริงเสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมกันอย่างไร

ก็ยังเป็นเสียงข้างน้อยในสภา เพราะขณะนี้เสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีอยู่ 208 เสียง ห่างจากเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล 269 เสียง อยู่ที่ 61 เสียง

ขณะที่ผลการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ด้วยคะแนนเห็นชอบ 278 ต่อ 194 เสียง พบว่าเสียงสนับสนุนของพรรคร่วมรัฐบาลมีมากกว่าถึง 84 เสียง

สะท้อนว่ามีเสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยเฉพาะ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านที่โหวตสวนมติพรรค มาสนับสนุนพรรคร่วมรัฐบาล แน่นอนตามรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นเอกสิทธิของ ส.ส.ที่ทำได้

ในศึกร้อนยกแรก การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ แม้ฝั่งรัฐบาลอาจมีความมั่นใจถึงความเป็นเอกภาพที่มีเสียง ส.ส.โหวตสนับสนุนแบบไม่แตกแถว

แต่ในการอภิปรายไม่ไว้วางนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นญัตติในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ สองฝ่าย ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน

คงจะต้องเดินเกมการเมืองห้ำหั่นกันอีกครั้ง ด้วยเป้าหมายทางการเมืองที่ต่างกัน พรรคร่วมรัฐบาล ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้นายกฯรอดพ้นศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะต้องทำทุกทางเพื่อหวังล้มนายกฯ ลงจากเก้าอี้นายกฯ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจให้ได้ แม้จะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากข้อจำกัดด้วยเสียงสนับสนุน

ต่อให้ฝ่ายค้านรวมเสียงกันแบบไม่มีแตกแถว อย่างไรเสียก็ไม่สามารถเอาชนะเสียงข้างมากของพรรคร่วมรัฐบาลไปได้ หนทางเดียวที่พอจะทำได้ คือ อภิปรายให้ประชาชน

เห็นด้วยและเชื่อในข้อมูลของฝ่ายค้าน เพื่อหวังผลให้ได้มือของประชาชนมาสังหารรัฐบาล ผ่านคูหาในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

จตุรงค์ ปทุมานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image