สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘ดนตรีในสวน’ โมเดล

สองสัปดาห์ก่อน ได้ฟัง ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. ให้สัมภาษณ์กับ
มติชนทีวีว่า กระบวนการเปิดเมืองและกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวหลังยุคโควิดนั้น จะทำงานกันแบบ “เชิงรับ” ไม่ได้

ว่าแต่การเปิดเมืองแบบ “เชิงรุก” ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง?

โดยส่วนตัวมองว่า “การเปิดเมืองเชิงรุก” จะประสบความสำเร็จด้วยความคิดสร้างสรรค์ การมีกิจกรรมที่คนทำอยากจัด คนดูอยากมาชม ผู้บริโภคอยากจับจ่ายใช้สอย ทั้งยังสามารถต่อยอดขยับขยายงานออกไปได้เรื่อยๆ

วันเสาร์ที่ผ่านมา มีโอกาสไปดูกิจกรรมการแสดงดนตรีของ “วงนั่งเล่น” และ ธีร์ ไชยเดช ที่มิวเซียมสยาม

Advertisement

คนจำนวนไม่น้อยอาจเข้าใจว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงาน “ดนตรีในสวน” ที่ดำเนินการโดย “ทีมชัชชาติ”

แต่จริงๆ แล้วงานนี้เป็นกิจกรรมที่ตัวนักดนตรีและผู้จัดงานวางแพลนเอาไว้ก่อน วันเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เสียอีก

ทว่า การได้สถานที่จัดงาน ซึ่งเข้าถึงได้ง่ายด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน การได้วันเวลาจัดงาน ที่ตรงกับกระแสการรื้อฟื้น “ดนตรีในสวน” พอดิบพอดี แถมยังได้ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ช่วยโปรโมตงานผ่านทางโซเชียลมีเดียอีกแรง

Advertisement

ก็ส่งผลให้ “กิจกรรมคู่ขนาน” ของงาน “ดนตรีในสวน” ที่มิวเซียมสยาม ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง

หลังการแสดงดนตรีที่มิวเซียมสยามยุติลง บรรยากาศคึกคักยังถูกถ่ายเทไปสู่ร้านอาหารโดยรอบ ขณะที่คนหนุ่มสาวจำนวนมากก็เหมือนเพิ่งได้พบเจอแง่มุม “อันซีน” ซึ่งพวกเขาไม่เคยรู้จักมาก่อน

เช่น การพากันไปถ่ายรูปพระปรางค์วัดอรุณฯ ยามค่ำคืน จากมุมหนึ่งของตลาดท่าเตียน

ความสำเร็จของ “วงนั่งเล่น” และ ธีร์ ไชยเดช น่าจะวางพื้นฐานอยู่บนปัจจัยสำคัญสองประการ
หนึ่ง นี่เป็น “กิจกรรมคู่ขนาน” ที่เกิดขึ้นล้อไปกับกระแส “ดนตรีในสวน” ซึ่งกำลังฮิต

ด้านหนึ่ง งานที่มิวเซียมสยามไม่ได้ถูกจัดขึ้นเพื่อหวังจะต้านทาน ขัดขืน หรือแข่งขันกับ “งานดนตรีในสวนแบบชัชชาติ” แต่อีกด้าน งานของ “วงนั่งเล่น-ธีร์” ก็มีความเป็นตัวของตัวเอง มีแนวทางดนตรีอีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจน ซึ่งช่วยขยายขอบเขตให้นิยามของ “งานดนตรีในสวน” มีความกว้างขวางยิ่งขึ้น

สอง นี่ยังเป็นกิจกรรมที่ตอบสนอง “ดีมานด์” และ “ซัพพลาย” ของศิลปินและแฟนคลับได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ

หลายคนทราบกันดีว่า ทั้ง “วงนั่งเล่น” และ ธีร์ ไชยเดช เป็นคนดนตรีรุ่นเก๋าที่มีฝีมือ-จุดเด่นอยู่ตรงการแสดงสดในพื้นที่สาธารณะ กล่าวได้ว่าพื้นที่นี้คือแพลตฟอร์มเดียวที่พวกเขาไม่เคยตกเป็นรองบรรดาศิลปินไฟแรงรุ่นหลังๆ

อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มดังกล่าวกลับถูกปิดสนิทไปร่วม 2-3 ปีในช่วงโควิดแพร่ระบาด ดังนั้น เมื่อรูระบายถูกเปิดขึ้น ความต้องการเล่นของนักดนตรีกับความต้องการชมของคนดู/คนฟัง จึงถูกปลดปล่อยออกมาอย่างทะลักล้น หลังต้องอัดอั้นกันมานาน

เท่ากับว่าการแสดงดนตรีที่มิวเซียมสยาม นั้นมีองค์ประกอบที่สอดคล้องกับ
“การเปิดเมืองเชิงรุก” อย่างครบถ้วน

ทั้งการไม่ใช่กิจกรรมเดิมๆ ที่มุ่งเลียนแบบงานอื่นๆ แต่มีการต่อยอดแตกแขนงออกไป
และการเป็นงานที่คนจัด คนเล่น คนดู ต่างมีความสุขกันโดยถ้วนหน้า

ต้องยอมรับว่าการแสดงดนตรีของ “กรมดุริยางค์ทหารบก” นั้นก็เป็น “กิจกรรมคู่ขนาน” ของงาน “ดนตรีในสวน” เช่นกัน แต่องค์ประกอบที่จะหนุนส่งให้กิจกรรมประสบความสำเร็จกลับมีอยู่ไม่ครบถ้วน

ขาดตกบกพร่องข้อไหนไปบ้าง? ทางผู้รับผิดชอบน่าจะทราบดี

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image