สถานีคิดเลขที่12 : ซักฟอกโดยประชาชน!

นักวิชาการ ฝ่ายธุรกิจ ใครต่อใคร มองข้าม การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ 10 รัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ ยังไม่กำหนดวันเริ่มต้น ระเบิดศึกซักฟอก

ต่างไม่คาดหวัง เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือการปรับขบวนในฝ่ายบริหารหลังจากนั้น

เพื่อเพิ่มความกระฉับกระเฉง ประสิทธิภาพการทำงาน แก้ภาวะเซื่องซึมตั้งรับ ตามหลังปัญหาที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน

หนึ่งในเหตุผลสำคัญ เนื่องจาก โดยระบบแล้ว ฝ่ายรัฐบาล คือเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

Advertisement

ญัตติที่ถือเอาเกณฑ์ กึ่งหนึ่งตัดสิน อย่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

จึงไม่มีทาง ที่ฝ่ายค้านจะพลิก มาเป็นฝ่ายเสียงข้างมาก รวบรวมเสียง ส.ส.ได้เกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกตามกติกา

คว่ำรัฐบาลกลางสภาได้สำเร็จ

Advertisement

ฉะนั้นต่อให้ฝ่ายค้าน แสดงข้อมูล ชี้ให้เป็นถึง ความล้มเหลวในการบริหารประเทศ เกิดความฉ้อฉล ทุจริตงบประมาณ อำนาจ หนักแน่นเพียงใดก็ตาม ไม่มีทางโน้มน้าวสมาชิกฝ่ายรัฐบาลเปลี่ยนใจ ให้หันมาโหวตในทิศทางเดียวกับฝ่ายค้านได้

แม้ว่า ส.ส.จะมีเอกสิทธิ์ มีอิสระในการตัดสินใจ ไม่อยู่ภายใต้มติพรรคก็ตาม

แต่ที่ผ่านมา ไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งใด ที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลโหวตผสมโรงกับฝ่ายค้าน

ไม่ไว้วางใจ กระทั่งรัฐบาลล้มไป

กล่าวสำหรับ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกฯผ่านศึกไม่ไว้วางใจมาแล้ว ถึง 3 ครั้ง 3 ครา คะแนนมากบ้าง น้อยบ้าง

แต่ไม่มีผลกระทบ ต่อตำแหน่ง ฐานะ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ รอบที่ 4 หรือครั้งสุดท้าย เดือนหน้า จึงไม่เหลือบ่ากว่าแรงแต่อย่างใด ในที่สุดแล้ว ‘บิ๊กตู่’ และอีก 10 รัฐมนตรีก็คงผ่านไปได้อย่างไม่ยากเย็น

สภาไว้วางใจ ให้บริหารประเทศต่อไป เหมือนกับทุกครั้ง

เนื่องจากเสียงฝ่ายรัฐบาล เป็นฝ่ายเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และมีความเป็นปึกแผ่น ประสานผลประโยชน์ได้อย่างลงตัวนั่นเอง

เรื่องที่สังคมการเมืองจับตา อย่างปัญหาความขัดแย้งภายในรัฐบาล ซึ่งหากรุนแรง จะมีผลต่อการลงมติ เพิ่มคะแนนเสียงในฝั่ง ‘ไม่ไว้วางใจ’ นั้น ก็ไม่มีสัญญาณ บ่งบอกว่าจะแรงถึงขั้นแตกหัก

หากจะปรากฏ ก็มีเพียงความเคลื่อนไหว ที่เป็นไปเพื่อการต่อรอง เก้าอี้รัฐมนตรี แลกเสียงโหวต ผลประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น

มิได้มีเป้าหมาย ล้ม นายกฯ

ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทางการเมือง

อารมณ์เดียวกับที่ มีเสียงเรียกร้องต้องการนอกสภา

เมื่อต่อรองไม่ได้ผลก็หาวิธีการพลิกแพลง

ยืมมืออภิปรายไม่ไว้วางใจ มาใช้เป็นบันได เข้าสู่ตำแหน่ง

ด้วยการวางแผนเข้าไปบริหารจัดการเสียงโหวต โดยกดแต้ม ดิสเครดิต รัฐมนตรีเป้าหมายที่ล็อกไว้แล้วบางคน ให้ได้คะแนนไว้วางใจต่ำสุด และไม่ไว้วางใจสูงสุด (แต่ไม่ถึงเกณฑ์ต้องหลุดเก้าอี้)

กดดันปรับเปลี่ยนตัว ปรับ ครม.

เปิดทาง ส่งมือไม้ คนใกล้ชิด เข้าดำรงตำแหน่งแทน

แต่ในที่สุด ก็เชื่อกันว่า แผนการนี้ล้มเหลว

หากผู้ก่อการ บงการ คือกบฏ ที่คิดโค่นล้มนายกฯมาก่อน

‘บิ๊กตู่’ คงไม่โอนอ่อน เล่นด้วยตามเกมของปรปักษ์อย่างแน่นอน

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ใครต่อใคร จึงมองข้าม ไม่คาดหวัง เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นตามมา

ฝ่ายค้านเองก็อ่านออก รู้ลึกในหมากเกม

แต่ก็ไม่มีทางเลือก จำเป็นต้อง ยื่นญัตติ ใช้มาตรการสูงสุด ตรวจสอบการทำงานของนายกฯ ของฝ่ายรัฐบาล

บริหารความคาดหวังของสังคม

ที่ต้องการเห็นการนำเสนอข้อมูล ซักฟอกที่หนักแน่น จริงจัง

ไม่หวังผลมือในสภา ล้มรัฐบาล แต่มองข้ามช็อต ไปถึงการเลือกตั้งทั่วไป อยากเห็นฝ่ายค้านใช้การอภิปรายสั่งสมความไม่พอใจที่มีต่อรัฐบาล

เพื่อก่อให้เกิดผลสะเทือนใหญ่

คาดหวังปรากฏการณ์ชัชชาติเกิดขึ้นในเวทีการเมืองระดับชาติ เปลี่ยนแปลงด้วยมือในคูหากาโดยประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image