สถานีคิดเลขที่ 12 : มองโพลก็คือโพล

สถานีคิดเลขที่ 12 : มองโพลก็คือโพล ผลสำรวจของสถาบันบัณฑิต

ผลสำรวจของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ “นิด้าโพล” เรื่อง“การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 2/2565”

ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะในหัวข้อที่สอบถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้

พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 25.28 ระบุว่า เป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เพราะต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ

ชื่นชอบพรรคเพื่อไทย นโยบายของพรรคทำได้จริง ขณะที่บางส่วนระบุว่า ชื่นชอบผลงานในอดีตของตระกูลชินวัตร

Advertisement

อันดับ 2 ร้อยละ 18.68 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 3 ร้อยละ13.24 ระบุว่า เป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ชื่นชอบอุดมการณ์ทางการเมือง และชื่นชอบนโยบายของพรรคก้าวไกล

อันดับ 4 ร้อยละ 11.68 ระบุว่า เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเป็นคนตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์สุจริต ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบ นโยบายสามารถช่วยเหลือประชาชนได้จริง และต้องการให้บริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง อันดับ 5ร้อยละ 6.80 ระบุว่า เป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะชื่นชอบผลงานในอดีต มีประสบการณ์ด้านการบริหาร ซื่อสัตย์สุจริต ขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามาบริหารประเทศ

หากโฟกัสผลการสำรวจบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็น นายกฯ ในอันดับ 1-5 ชื่อที่ถูกจับตา คือ คะแนนนิยมของ น.ส.แพทองธาร ที่มีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งที่ 1 จาก 12.53% มาเป็น 25.28% สวนทางกับคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ลดลงจากการสำรวจครั้งที่ 1 จาก 12.67% เป็น 11.68%

Advertisement

แน่นอนหากนำผลการสำรวจไปสอบถามบุคคลที่มีชื่อปรากฏผ่านผลโพล ฝ่ายที่ได้ผลการสำรวจตัวเลข ออกมาน่าดี ย่อมต้องน้อมรับ และขอบคุณผู้ที่ตอบคำถาม

ส่วนผู้ที่ได้รับคะแนนนิยมน้อยลง ย่อมแสดงออกต่อผลการสำรวจดังกล่าว ในแบบที่ไม่ค่อยสบอารมณ์มากนัก ผ่านการสื่อสารที่ออกมาว่า “โพลก็คือโพล” รวมทั้งระบุว่า “เห็นแต่ละสำนักผลสำรวจออกมาไม่ตรงกันสักที มีการโทรศัพท์ไปสอบถามใครกันบ้าง”

ในข้อเท็จจริงผลการสำรวจความนิยมของสำนักโพลต่างๆ ยึดหลักการและระเบียบวิจัยในการทำโพล ย่อมต้องยึดมาตรฐานเดียวกัน

แต่ผลการสำรวจที่ออกมาผ่านโพลสำนักต่างๆ ในทางการเมือง รู้กันดีว่า สำนักโพลใดมีความน่าเชื่อถือในทางวิชาการได้มากกว่ากัน

และต้องไม่ลืมว่า ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ที่นำเสนอมาเมื่อครั้งการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ที่ระบุว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีคะแนนนิยมนำมาตลอด

จนเข้าป้ายชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ หากจะอนุมานผลสำรวจในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. มาจนถึงคะแนนนิยมของผู้ที่เหมาะสมจะเป็นนายกฯ ในครั้งนี้

ย่อมไม่ควรมองข้ามว่า “โพลก็คือโพล” แต่ควรนำคำตอบผลการสำรวจไปวิเคราะห์และถอดบทเรียนที่แต่ละคนได้รับว่าควรจะปรับจุดอ่อน เสริมจุดแข็งอย่างไร น่าจะถูกทิศถูกทางมากกว่า

จตุรงค์ ปทุมานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image