สถานีคิดเลขที่ 12 : ไม่มีสัก ‘นครา’ หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ

สถานีคิดเลขที่ 12 : ไม่มีสัก‘นครา’หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ

สถานีคิดเลขที่ 12 : ไม่มีสัก‘นครา’หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ

เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า ผลลัพธ์สำคัญของการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นไม่ได้อยู่ตรงความเป็นไปได้ในการโหวตคว่ำผู้ถูกอภิปรายคาสภาผู้แทนราษฎร

หากอยู่ที่ผลลัพธ์อื่นๆ ซึ่งมีทั้ง “ผลลัพธ์ทางอ้อม” และ “ผลลัพธ์นอกสภา”

ขอเริ่มต้นด้วยเรื่อง “ผลลัพธ์ทางอ้อม” ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบล่าสุด ที่อาจพิจารณาได้จากผลคะแนนไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีกสิบคน

สิ่งแรกที่เราได้เห็น คือ แม้ไม่แน่ใจว่าแผงอำนาจ “3 ป.” นั้นมีความเป็นปึกแผ่นแน่นเหนียวขนาดไหน? แต่ผลโหวตในสภาก็บ่งชี้ชัดว่า “แต่ละ ป.” มีบารมีทางการเมืองไม่เท่ากัน

Advertisement

เมื่อคะแนนไว้วางใจของ “ป.ป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังคงมีมากกว่าคะแนนไว้วางใจของ “ป.ประยุทธ์” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่นเคย

ที่น่าห่วงเห็นจะเป็น “ป.ป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่คะแนนไว้วางใจอยู่ในโซนท้ายตาราง แถมมีคะแนนไม่ไว้วางใจนำโด่งเป็นอันดับหนึ่ง (แม้แต่ ส.ส.กลุ่มปากน้ำ ในพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังโหวตคว่ำ มท.1)

ประการถัดมา แม้รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทยจะถูกจู่โจมหนักในการอภิปรายไม่ไว้วางใจหนล่าสุด โดยเฉพาะ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม แต่ผลกลับปรากฏว่าทั้งศักดิ์สยาม และ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค นั้นได้รับคะแนนไว้วางใจสูงระดับ “น้องๆ บิ๊กป้อม”

Advertisement

แสดงให้เห็นว่าผู้นำของพรรคภูมิใจไทยมี “บารมี” ในสภาและในหมู่นักการเมืองสูงจริงๆ พูดง่ายๆ คือ มีบารมีเหนือกว่านายกรัฐมนตรี ตลอดจน “นักการเมืองขาใหญ่ๆ” หลายรายในพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้คะแนนไว้วางใจในโซน 240 กว่าๆ (แถมบางคนยังโดนยกมือสวนจาก ส.ส.พรรคตัวเองด้วย)

ข้อสามที่ประจักษ์ชัดก็คือ อาการเข้าขั้นโคม่าของรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งคะแนนไว้วางใจอยู่ในโซน 240 กันถ้วนหน้า โดยที่บางคนถูกเปิดแผลฉกรรจ์ในการอภิปรายฯ

ที่น่าตกใจเห็นจะเป็น จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ รมว.พาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้แอร์ไทม์ในการชี้แจงค่อนข้างเยอะ แต่ไปๆ มาๆ กลับได้คะแนนไว้วางใจต่ำที่สุด (โดยมี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล งดออกเสียง)

ไม่นับรวมปัญหา “ขบถในพรรค” ที่แม้จะกล้าเผยตัวผ่านการลงมติเพียงน้อยราย ทว่าก็เป็นที่รับทราบกันดีว่ามีคนเหล่านี้อยู่

ทั้งหมดข้างต้นเป็นความปรวนแปร ที่อาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในหมู่นักการเมือง พรรคการเมือง และแผงอำนาจ ขั้วรัฐบาล

อย่างไรก็ดี การอภิปรายไม่ไว้วางใจคราวนี้ยังมี “ผลลัพธ์นอกสภา” อันได้แก่การจัดลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจโดยภาคประชาชน ทั้งที่ทำผ่านระบบออนไลน์ของเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ และการลงคะแนนผ่านคูหาตามจุดต่างๆ ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ

ผลปรากฏชัดว่า ประชาชนส่วนใหญ่ “ไม่ไว้วางใจ” รัฐบาลประยุทธ์

คำถาม คือ ถ้าคะแนนโหวตนอกสภา สะท้อนเจตจำนงของประชาชนจำนวนไม่น้อยหรือประชาชนส่วนใหญ่ แล้วคะแนนโหวตในสภา กำลังสะท้อนเจตจำนงของใคร? ส.ส.ที่พากันโหวต “ไว้วางใจ” อย่างพร้อมเพรียง ยังเป็น “ผู้แทนราษฎร” อยู่จริงหรือไม่?

“ผลลัพธ์ทางอ้อม” และ “ผลลัพธ์นอกสภา” ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายในสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ สะท้อนว่า บางที การเมืองไทยปัจจุบันอาจไม่ได้อยู่ในภาวะ “สองนครา” หรือ “หลายนครา” ประชาธิปไตย

ถ้า “นคร/นครา” หมายถึงระบบอำนาจที่ต้องมีศูนย์กลาง แหล่งที่มา และลำดับชั้นของอำนาจอันชัดเจน มีการจัดสรร-ดุลอำนาจอย่างเหมาะสมลงตัว การเมืองไทยขณะนี้ก็คล้ายจะไม่มี “นครา” ดำรงอยู่ด้วยซ้ำ

จากภาวะที่นายกฯ มีบารมีทางการเมืองน้อยกว่ารองนายกฯ และพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค

ภาวะที่สมาชิกในชนชั้นนำกลุ่มเดียวกัน ได้รับการยอมรับนับถือไม่เท่ากัน

ภาวะที่ประชาชนทั้งในเมืองและชนบทจำนวนมาก “ไม่ไว้วางใจ” ต่ออำนาจของรัฐบาล ซึ่งได้รับการ “ไว้วางใจ” จากเสียงส่วนใหญ่ในสภา

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image