สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘การเมืองไทย’ ก่อนเลือกตั้ง

‘การเมืองไทย’ก่อนเลือกตั้ง

ภาพการก้มลงกราบเท้า “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ของ “กรุงศรีวิไล สุทินเผือก” ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ หลังเสร็จศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจไปหมาดๆ สะท้อนนัยยะน่าสนใจหลายประการ

แน่นอนว่า การที่คนคนหนึ่งยอมลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเอง ด้วยการก้มลงกราบแทบเท้าใครอีกคนนั้น ย่อมถือเป็นการแสดงท่าที “ยอมรับในอำนาจ” ของฝ่ายตรงข้าม

ทว่าอำนาจที่กรุงศรีวิไลยอมรับคืออำนาจของใคร?

Advertisement

เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นอำนาจของ “บิ๊กป้อม” พี่ใหญ่ 3 ป. ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ผู้ซึ่งลูกพรรคหลายรายออกมาเรียกร้องให้ย้ายไปดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย

ขณะเดียวกัน “การยอมกราบเท้าบิ๊กป้อม” ก็บ่งบอกถึงการมีจุดยืน “ไม่ยอมรับในอำนาจ” ของผู้ใหญ่ในรัฐบาลบางคน

คนแรก คือ “บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” มท.1 คนปัจจุบัน คนที่สอง คือ “สุชาติ ชมกลิ่น” รมว.แรงงาน และ ผอ.พรรคพลังประชารัฐ

Advertisement

โดยทั้งคู่เพิ่งถูก ส.ส.กลุ่มปากน้ำ พรรคพลังประชารัฐ โหวตไม่ไว้วางใจคาสภา

พึงตั้งคำถามด้วยว่า “การกราบเท้าบิ๊กป้อม” นั้นมีนัยยะที่สื่อถึง “การต่อต้านท้าทายอำนาจบิ๊กตู่” มากน้อยแค่ไหน?

แม้ “นักกราบระดับรางวัลตุ๊กตาทอง” เช่น กรุงศรีวิไล จะเคยลุกขึ้นท้วงติง ส.ส.ฝ่ายค้าน ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบล่าสุด ว่าทำไมพากันพูดถึงข้อเสีย แต่ไม่ยอมกล่าวถึงข้อดีของนายกรัฐมนตรีบ้างเลย กระทั่งได้รับคำชื่นชมยกย่องจาก “ดอน ปรมัตถ์วินัย” รองนายกฯและ รมว.ต่างประเทศ

แต่พอมีซีน ส.ส.กลุ่มปากน้ำ โหวตสวนรัฐมนตรีในรัฐบาล รวมถึงช็อตเด็ด “กราบเท้าลุงป้อม” เกิดขึ้นตามมา

ก็ชักไม่แน่ใจแล้วว่าการพยายามปกป้อง “ลุงตู่” ในสภาหนนั้น คือ “ข้อเท็จจริงทางการเมือง” หรือเป็นเพียง “ฉากหนึ่งของละครอาหลอง”

นัยยะเบื้องหลังภาพกราบเท้าที่สมุทรปราการ ก็คงไม่ต่างอะไรกับท่าทีพลิกไปพลิกมา หรือการโยนหินถามทางเรื่องสูตรเลือกตั้งของฝ่ายรัฐบาล

ที่เดี๋ยวก็จะเอาสูตรหาร 100 แล้วก็หันไปหนุนสูตรหาร 500 ก่อนจะมีบางเสียงที่อยากดึงสูตรหาร 100 กลับมาอีกครั้ง เช่นเดียวกับอาการเดี๋ยวก็อยากได้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เดี๋ยวก็อยากย้อนไปใช้บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ อย่างไม่เคยสงบนิ่ง

น่าสังเกตว่า ความต้องการอันผันผวนรวนเรว่าด้วยการออกแบบการเลือกตั้งนั้นแทบไม่ได้มุ่งพินิจพิเคราะห์ปัญหาเรื่องการสะท้อนเจตจำนงของประชาชนผ่านผลเลือกตั้งกันสักเท่าไหร่

แต่ความสับสนดังกล่าวกลับวิ่งวนอยู่บนฐานคิดที่ว่า ต้องทำอย่างไร พรรคการเมืองบางพรรค หรือกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม จึงจะได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งมากที่สุด

ทั้งหมดเกิดจากความไม่มั่นใจในคะแนนเสียง-ความนิยมของตนเอง ไม่มั่นใจว่าตนเองจะควบคุมเกมการเมืองเอาไว้ได้

ในห้วงเวลาหนึ่งปีที่นับถอยหลังสู่การเลือกตั้งครั้งหน้า “การเมืองไทย” ในมุมมอง-เงื้อมมือของผู้มีอำนาจชุดปัจจุบัน น่าจะถูกยื้อยุดอยู่ในสภาพทำนองนี้

คือเป็นการเมืองของการต่อรองที่พลิกผันไปมา เน้นการสื่อสารกับประชาชนอย่างน้อยๆ คลุมเครือ และไม่ชัดเจน แต่เจรจากับพรรคพวกขั้วเดียวกันเยอะๆ เพื่อเสาะแสวงหาความแน่นอนว่าพวกตนจะได้อยู่ในอำนาจต่อไป

ทว่าเอาเข้าจริง ก็คงไม่มีผู้ถือครองอำนาจรายไหน ที่จะสามารถควบคุม กำกับ บงการอะไร ได้ชนิดเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

เพราะด่านสุดท้ายที่พวกคุณหลีกเลี่ยง-ไม่ยอมเผชิญหน้าไม่ได้ คือ เจตจำนงของประชาชนในคูหาเลือกตั้ง

ซึ่งอย่างไรเสีย ก็จะไม่ได้ดำเนินไปตามเป้าประสงค์ของพวกคุณแบบเป๊ะๆ แม้กฎกติกาต่างๆ จะถูกออกแบบมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พวกคุณขนาดไหนก็ตาม

ที่ใดมีอำนาจ ที่นั่นย่อมมีการต่อต้าน อยู่เสมอ

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image