สถานีคิดเลขที่ 12 : ไฟต์พิเศษ

สถานีคิดเลขที่ 12 : ไฟต์พิเศษ ปกติคนในสังคมมักจะต้องยืนยันในหลักการ

สถานีคิดเลขที่ 12 : ไฟต์พิเศษ

ปกติคนในสังคมมักจะต้องยืนยันในหลักการ ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง แต่มาในกรณีลุงนักชกกับนักร้องคนดัง กลายเป็นว่า การไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง มีการนำมาใช้แบบ “อำ” เพราะเหตุการณ์นี้มีมุมมองในหลายมิติ ไม่สามารถมองว่าเป็นการใช้กำลังชกต่อยแบบตื้นๆ ได้

ลุงศักดิ์นักชกผู้ก่อเหตุครั้งนี้ ผ่านการชุมนุมทางการเมืองในฐานะคนเสื้อแดง และร่วมกับคนรุ่นใหม่เคลื่อนไหวมาหลายครั้ง

ถือว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนต่อสู้กับผู้มีอำนาจตามหลักสันติวิธีมาโดยตลอด

คงเต็มไปด้วยความอึดอัดคับข้องใจ ที่ตนเองและเยาวชนรุ่นลูกหลาน โดนดำเนินคดีกันระนาว ทั้งที่เป็นการใช้เสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย และเป้าหมายคือเพื่อผลักดันให้สังคมพัฒนาก้าวหน้า

แล้วยิ่งภาพรวมของสังคมไทย ที่เต็มไปด้วยเสียงวิจารณ์ว่า ใช้ความยุติธรรมหลายมาตรฐาน ทำให้เกิดภาพฝ่ายผู้มีอำนาจได้เปรียบฝ่ายคิดต่างอยู่เสมอๆ

น่าจะยิ่งกลายเป็นอารมณ์กดดัน

ขนาดทอล์กโชว์ตลกเสียดสีนายกฯ ก็ยังจะมาเอาเป็นเอาตายกัน โดยไม่ฟังคำเตือนสติของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อีกแกนนำรัฐบาลที่เห็นว่า เขาก็วิจารณ์ทุกรัฐบาล เป็นการพูดเพื่อความบันเทิง ไม่ควรทำเป็นเรื่องใหญ่

ถ้ามองเดี่ยว 13 อันขบขัน ด้วยอารมณ์ขัน ก็คงไม่มีอะไรวุ่นวายบานปลาย

แต่นี่ไม่เป็นเช่นนั้น เรื่องราวจึงยิ่งไปกันใหญ่

เหตุการณ์ชกต่อยก็เลยอุบัติขึ้น

ฟังคำกล่าวของลุงศักดิ์ก็ชัดเจนว่า ไม่พอใจประเด็นการใช้กฎหมายกับการชุมนุมประท้วงของคนรุ่นใหม่

ที่สำคัญหลังเหตุการณ์พะบู๊ครั้งนี้ มีเสียงป่าวประณามการใช้กำลังรุนแรงอยู่เหมือนกัน แต่เบากว่าเสียงเชียร์และการสนับสนุนด้วยเงินบริจาคเป็นอย่างมาก

ไม่ใช่การเชียร์มวย เชียร์ให้ต่อยกัน แต่น่าจะเป็นการสนับสนุนเพราะเห็นว่า เป็นปรากฏการณ์การประท้วงปัญหากระบวนการทางกฎหมายหลายมาตรฐานที่สร้างความขัดแย้งมาตลอด

จึงเกิดเสียงเตือนว่า ถ้าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ต้องไม่แค่ป่าวประณามฝ่ายที่ชกต่อยใช้กำลัง แต่ต้องย้อนถามว่า เกิดปัญหาอะไรขึ้นมาในสังคม จนทำให้ชายคนหนึ่งระเบิดอารมณ์เป็นหมัดมวย

ต้องย้อนกลับไปแก้ปัญหานั้น เพื่อไม่ให้ผู้คนอัดอั้นตันใจแล้วระเบิดออกเช่นนี้อีก

กระบวนการใช้กฎหมายราวนิติสงคราม กระบวนการที่ฝ่ายผู้มีอำนาจถูกตลอด ต้องเลิกได้แล้ว

แม้แต่กรณีลุงศักดิ์ ก็ต้องจับตาดูว่า ฝ่ายผู้มีอำนาจจะจัดการปัญหานี้อย่างชาญฉลาดหรือแบบบ้าอำนาจ

การชกต่อยเป็นคดีทำร้ายร่างกายที่ไม่ร้ายแรงอะไร เพราะไม่ได้ใช้อาวุธ เป็นแค่การระบายอารมณ์อะไรกันแค่นั้น

มีบรรทัดฐานทางคดีอยู่แล้ว

แต่ดูเหตุการณ์ในวันรุ่งขึ้น ตำรวจกองปราบฯนำหมายจับคดีเก่าไปดักจับเขาที่ลานจอดรถสถานีโทรทัศน์

บ่งบอกว่า คนที่มีอำนาจสั่งการลงมาไม่รู้จักสรุปบทเรียน ไม่มองปัญหานี้อย่างใช้สติปัญญา

ระวังว่าจะเป็นการบ่มเพาะความรู้สึกอัดอั้นแล้วระเบิดออกมาอีก

อย่าทำให้สังคมพัฒนาไปสู่จุดที่ เมื่อผู้มีอำนาจแรงมา อีกฝ่ายก็แรงไป

มีอำนาจแก้ปัญหาบ้านเมืองให้คลี่คลายสงบสุข ไม่ควรเป็นโปรโมเตอร์จัดมวยไฟต์พิเศษเสียเอง

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image