ผู้เขียน | นฤตย์ เสกธีระ |
---|
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนกันยายน 2567
พบว่า ความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 อยู่ที่ระดับ 55.3 ต่ำสุดในรอบ 14 เดือน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566
สาเหตุเกิดจากภาคธุรกิจไม่มีความเชื่อมั่นในสถานการณ์ปัจจุบัน และมีสัญญาณวิตกกังวลถึงภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันค่อนข้างสูง
ภาคธุรกิจมีความกังวลสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ ทั้งเรื่องการบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว และการเกษตร
ผู้ประกอบการมองว่าสถานการณ์ต่างๆ แย่มากกว่าดีขึ้น
ขณะที่ ผศ.ดร.วชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย
ระบุว่า เศรษฐกิจโดยรวม เดือนกันยายนเท่ากับ 51.2 ลดลงจากเดือนสิงหาคม 52.9
ส่วน อาจารย์วาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนกันยายนอยู่ที่ 55.3 ลดลงจากเดือนสิงหาคมที่ 56.5
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน 39.0 จากเดือนที่แล้ว 40.4 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต อยู่ที่ 63.1 ลดลงจากเดือนสิงหาคม 64.3
ดัชนีความเหมาะสมการซื้อรถยนต์คันใหม่ การซื้อบ้านใหม่ การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว การลงทุน การทำธุรกิจ
ทุกดัชนีมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่องทุกดัชนี
ขณะที่ดัชนีทางธุรกิจลดลงต่อเนื่อง หันมามองความเคลื่อนไหวทางการเมืองก็พบว่าเริ่มนิ่ง
ทั้งนี้ การเมืองน่าจะเป็นปัจจัยที่สร้างความหวังให้สังคมได้ดีที่สุด และความหวังนี้น่าจะนำไปสู่ความเชื่อมั่น
หากการเมืองมีนโยบายที่สร้างความหวัง ตอกย้ำความเชื่อมั่นในความสำเร็จให้แลเห็น ขวัญและกำลังใจภาคส่วนต่างๆ ก็น่าจะกระเตื้องขึ้นมา
แต่ระยะเวลาที่ผ่านมาพบว่า ความหวังที่จะปฏิรูปการเมืองด้วยการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำลังริบหรี่
รัฐธรรมนูญปัจจุบันที่มีข้อกำหนดที่บั่นทอนศักยภาพของพรรคการเมือง ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไร้เสถียรภาพ
เมื่อศักยภาพของรัฐบาลถูกบั่นทอน การดำเนินนโยบายต่างๆ ก็สะดุด
เมื่อมองไปที่ความหวังทางเศรษฐกิจจากภาคการเมืองก็พบว่าเริ่มแผ่ว
การแจกเงินหมื่นแม้จะสำเร็จ แต่ผลของเงินจำนวน 1.4 แสนล้านบาทนั้นยังไม่ออกดอกออกผล ชี้วัดได้จากเสียงเรียกร้องจากภาคเอกชนที่ผลักดันให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอีก
ขณะที่โพลล่าสุดของนิด้าพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่โกรธมากหากรัฐบาลไม่ดำเนินการเฟส 2 ตามนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต
การทำไม่ได้ตามนโยบาย ย่อมส่งผลกระทบต่อความหวังของประชาชน
สังเกตได้ว่า หลังจากวันที่ นายทักษิณ ชินวัตร แสดงวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนประเทศไทย หลายฝ่ายเริ่มมีความหวัง
เมื่อรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร แถลงนโยบายก็ยิ่งมีความหวัง
แต่มาถึงวันนี้ภาคส่วนต่างๆ ที่มีความหวังเริ่มตั้งคำถาม
เมื่อไหร่จะเริ่ม เมื่อไหร่จะทำ จะสำเร็จหรือเปล่า
การตั้งคำถามถือเป็นเพียงสัญญาณเตือน
เป็นตัวช่วยให้รัฐบาลรับมือ เพราะสังคมแค่สงสัย แต่ยังไม่ได้สรุป
ตราบจนถึงวันที่สังคมได้ข้อสรุป ผลสรุปก็จะกระทบต่อรัฐบาล
อาจส่งผลดี อาจส่งผลเสีย ทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะรับมือกับสัญญาณเตือนเหล่านี้อย่างไร
นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]