เดินหน้าชน: ความเชื่อมั่น เกมชิงอำนาจ

“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. พูดย้ำมาตลอดว่า ขอให้เชื่อมั่นในรัฐบาล

ให้เชื่อมั่นในความมุ่งมั่นและตั้งใจแก้ปัญหาประเทศ ให้ก้าวพ้นความขัดแย้ง นำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ซึ่งประชาชนและนักการเมืองก็เชื่อมั่นว่า คสช.จะคืนความสุขให้ประเทศไทยในไม่ช้า

แต่หลังๆ นี้ดูเหมือนว่า ความเชื่อมั่นเริ่มลดน้อยลง

Advertisement

ยิ่งเป็นนักการเมือง ยิ่งไม่ให้น้ำหนัก หากฟังจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หรืออ่านความเห็นของนักการเมืองส่วนใหญ่

ที่บอกว่า จะใช้เวลาไม่นาน ความสุขก็จะกลับคืนมา ขณะนี้เวลาก็ผ่านมากว่า 4 ปีแล้ว

โรดแมปเลือกตั้งก็เลื่อนมาแล้วหลายครั้ง ไม่เป็นไปตามสัญญา

จากปี 2558 ขยับเป็นปี 2560 แล้วเลื่อนเป็นปี 2561 ล่าสุดเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2562

เลื่อนจนนักการเมืองไม่กล้าทวงถามอีก ทำใจได้แล้วว่า จะให้เลือกตั้งเมื่อไรก็เมื่อนั้น

ซึ่งเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็ยังไม่แน่ว่าประชาชนจะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่ เพราะในวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่
“บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประชุมพรรคการเมืองนั้น มีการพูดถึงวันเลือกตั้ง 4 วัน

คือ 24 กุมภาพันธ์ 2562, 31 มีนาคม 2562, 28 เมษายน 2562 และ 5 พฤษภาคม 2562

ประชาชนก็ไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จริง โดยผลสำรวจของสำนักโพลที่ผ่านมา พบว่าประชาชนอยากให้มีการเลือกตั้ง แต่ไม่เชื่อมั่นว่าจะเกิดขึ้นจริง

เหตุของความไม่เชื่อมั่น เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงและเลื่อนการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง

นอกจากนี้ จากความเคลื่อนไหวและการกระทำ ที่มีแนวโน้มไปสู่เป้าหมายหนึ่ง แต่ก็ปฏิเสธ หรือไม่ประกาศให้ชัดเจน

ยกตัวอย่าง “บิ๊กตู่” เคยบอกว่า ไม่ใช่นักการเมือง แต่ต่อมายอมรับว่า เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร

ล่าสุด ได้พูดชัดเจนว่า เดือนกันยายนนี้จะตัดสินใจว่าจะเล่นการเมืองหรือไม่ หมายถึง จะยอมให้พรรคการเมืองเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ในการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

หรือจะตัดสินใจรอเทียบเชิญให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก

ที่ “บิ๊กตู่” บอกว่า ยังไม่ตัดสินใจนั้น ได้ให้เหตุผลว่า เป็นคนของประชาชนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม หรือจะเป็นอะไรที่ทุกคนตั้งให้ ก็เป็นได้หมด

เป็นการซื้อใจประชาชนและหาทางออกให้ตัวเองอีกวิธีหนึ่ง

ที่บอกว่า ไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ ก็มีการพรรคการเมืองสนับสนุน มีการเดินสายทาบทามนักการเมืองจากพรรคต่างๆ ให้ร่วมสนับสนุน

นักการเมืองจึงมองว่า “บิ๊กตู่” เป็นนักการเมืองเต็มตัวแล้ว

ทั้งยังเหนือกว่า นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะยังมี “ม.44” อยู่ในมือ ที่สามารถจัดการอะไรต่างๆ ได้แบบเบ็ดเสร็จ

ที่ตระเวนลงพื้นที่ติดตามโครงการ พบปะนักการเมือง ประชาชน รวมทั้งงบประมาณโครงการต่างๆ นักการเมืองก็มองว่า เป็นการสร้างคะแนนนิยม

แม้จะมีเสียงปฏิเสธว่า ไม่ใช่การหาเสียง คงไม่มีนักการเมืองคนไหนเชื่อ

แต่ถ้าจะเถียงกันแบบไม่ต้องการเหตุผลก็ใช่ เพราะเมื่อยังไม่มีการเลือกตั้ง จะมีการหาเสียงได้อย่างไร

หากยอมรับว่า ไปหาเสียงจริง ก็อาจจะไม่ได้รับเสียงจากชาวบ้าน

สู้บอกว่า มาติดตามโครงการพัฒนาพื้นที่ มารับฟังปัญหา มาเยี่ยมเยียน มาด้วยใจไม่ดีกว่าหรือ เพราะจะทำให้ได้ใจชาวบ้านมากกว่า

การเลือกตั้งครั้งต่อไปจึงไม่แตกต่างไปจากเดิม ที่ประชาชนยังเป็นเหยื่อในเกมแย่งชิงอำนาจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image