เดินหน้าชน : พปชร.รับไม้ต่อ

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศในวันที่ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคพลัง
ประชารัฐ ถึงอุดมการณ์ของพรรค 7 ข้อ

1.พรรคยึดมั่นในระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2.พรรคเป็นสถาบันการเมืองของประชาชน บ่มเพาะพลเมืองที่ตื่นรู้ มุ่งเน้นการพัฒนาประชาธิปไตยวิถีไทย
3.น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมกันเป็นกลุ่มอย่างมีพลัง ร่วมสร้างความเข้มแข็ง เติบโตจากฐานรากอย่างยั่งยืน ชูประเทศไทยสู่ประชาคมโลกอย่างสมศักดิ์ศรี
4.ก้าวข้ามความขัดแย้ง ฟื้นความสมานฉันท์
5.สร้างสังคมที่เป็นธรรม ยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม
6.ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสที่แท้จริง ขจัดความยากจน สร้างความมั่นคงในสังคม
7.สร้างสังคมที่เกื้อกูล แบ่งปัน เติมเต็มศักยภาพของผู้คน เตรียมพร้อมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21

“อุตตม” ยังยืนยันว่า พรรคพลังประชารัฐจึงเกิดขึ้นด้วยอุดมการณ์ที่จะรวมพลังของประชาชน เข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทย ให้ก้าวข้ามอุปสรรคปัญหา ที่ทำให้ประเทศไทยชะงักงันมาเป็นเวลานาน ทั้งการเมืองแบบเดิมๆ ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งมากกว่าทศวรรษ

ทั้งยังชี้แจงว่า พรรคพลังประชารัฐไม่ใช่พรรคทหาร แต่กระแสสังคมมองว่า พรรคพลังประชารัฐตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของ คสช.

Advertisement

ถ้าจะพูดให้ดูดีหน่อยก็ต้องบอกว่า เป็นการสานงานหรือรับไม้ต่อจาก คสช.

เนื่องจากยังมีหลายเรื่องที่ คสช.และรัฐบาล ถูกวิจารณ์ว่า กระทำไม่สำเร็จ

หนึ่งคือ ปฏิรูปการเมืองใหม่ ซึ่งในเอกสารเจตนารมณ์และนโยบายของหัวหน้า คสช. ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2557 ระบุถึงด้านการเลือกตั้งว่า ปรับปรุงระบบการเลือกตั้งให้มีความสุจริต เที่ยงธรรม สะท้อนถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน โดยครอบคลุมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง กระบวนการคัดสรรผู้สมัคร กระบวนการตรวจสอบการเลือกตั้ง ฯลฯ

ต่อมามีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่า การปฏิรูปการเมืองล้มเหลว ไม่ใช่การเมืองแบบใหม่ตามเจตนารมณ์ที่ประกาศไว้

เนื่องจากการเมืองในปัจจุบันแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่ผ่านมา โดยยังมีเรื่องของผลประโยชน์ การดูดอดีต ส.ส.เข้าสนับสนุน การใช้อำนาจ การข่มขู่บังคับ การใช้วิธีการต่างๆ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายอำนาจ ฯลฯ

บางเรื่องถูกวิจารณ์ว่า ร้ายกาจกว่าในอดีต

อีกหนึ่งปัญหาที่ คสช.ถูกวิพากษ์วิจารณ์กระทำไม่สำเร็จในช่วงกว่า 4 ปีที่ผ่านมา คือปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งเป็นปัญหาหลักของประเทศ

พรรคพลังประชารัฐ จึงกำหนดไว้ในอุดมการณ์ข้อ 4 ว่า จะก้าวข้ามความขัดแย้ง ฟื้นความสมานฉันท์
ขณะที่อุดมการณ์ข้อ 5, 6 และ 7 เรื่องสร้างสังคมที่เป็นธรรม ยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ หรือการสร้างสังคมที่เกื้อกูล ก็มีความจำเป็น เพราะเรื่องเหล่านี้ มีส่วนทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมเช่นกัน

ส่วนสาเหตุที่มองว่า คสช.ยังแก้ความขัดแย้งในสังคมไม่ได้นั้น วิพากษ์วิจารณ์กันว่า ล้วนเป็นผลมาจาก คสช.

คสช.ที่เข้ามาเป็นกรรมการยุติความวุ่นวาย ทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ได้เขียนกติกาการเลือกตั้งใหม่ พร้อมกำหนดกรอบการปฏิบัติในหลายด้าน เพื่อหวังให้การเมืองเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่สุดท้ายฝ่าย คสช.ก็ลงเล่นเอง

เข้าทำนองเขียนกติกาเองและเล่นเอง ผิดวิสัยกรรมการ

คสช.ยังถูกกล่าวหาว่า เข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ทำให้แก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ได้ จึงต้องส่งไม้ต่อให้ “พลังประชารัฐ”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image