บทบาททนาย

 

ยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรมสำหรับคดี “หมอสูติ” คนดังในจังหวัดนครสวรรค์ ที่ถูกกล่าวหาอนาจารและกระทำชำเราคนไข้ในคลินิกของตัวเอง
โดยเจ้าตัวเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครสวรรค์ ให้การปฏิเสธ
ขอสู้คดีในชั้นศาล

ซึ่งพนักงานสอบสวนระบุสอบปากคำพยานบุคคล รวบรวมหลักฐานเอกสาร เกือบเสร็จสมบูรณ์

รอเพียงผลทางนิติวิทยาศาสตร์เท่านั้น

Advertisement

ที่จะสรุปสำนวนสั่ง “ฟ้อง” หรือ “ไม่ฟ้อง” ต่ออัยการ

ขณะที่แพทยสภาเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจเป็นห่วงเป็นใยเรื่องที่เกิดขึ้นและเตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารชุดใหญ่ต้นเดือนธันวาคมนี้

เพื่อตรวจสอบว่าข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่?

Advertisement

เข้าข่ายผิดจริยธรรมทางการแพทย์ตามข้อบังคับหรือเปล่า?!

โดยยืนยันว่าจะพิจารณาอย่างรวดเร็วชัดเจน

พร้อมระบุว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแพทยสภามี 2 ช่องทางในการตรวจสอบ

หนึ่ง มีผู้เสียหายมาร้องทุกข์

หนึ่ง แพทยสภารับทราบข่าวสารจากช่องทางใดก็แล้วแต่

กรณีที่เกิดขึ้นทราบข้อมูลมาจากสื่อมวลชน

ฉะนั้นสามารถนำเรื่องที่มีผู้เสียหายเข้าที่ประชุมได้เลย

โดยจะตรวจสอบ 2 ประเด็น

หนึ่ง ด้านจริยธรรม

หนึ่ง ตามกฎหมายบ้านเมืองในส่วนนี้ต้องรอผลสอบของตำรวจประกอบ

เพื่อพิจารณาบทลงโทษเริ่มจาก “น้อย” ไปหา “มาก”

กล่าวคือ “ตักเตือน” สเต็ปต่อไปคือ “ภาคทัณฑ์”

หากผิดรุนแรงหนักถึงหนักมาก ก็จะถึงขั้น “พัก” ไปถึง “ถอดถอน” ใบประกอบวิชาชีพเลย

ขณะที่ “หมอสูติ” คนดังซึ่งถูกกล่าวหาก็ระบุว่าพร้อมชี้แจงต่อแพทยสภาและยืนยันจะไปด้วยตนเอง

ส่วนผลสรุปจะออกมาอย่างไรต้องรอเวลาสักระยะ!

อย่างไรก็ตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นครั้งนี้หรือครั้งก่อนหน้านี้ “ทนายความ” บางคน เข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งในการออกมาเปิดโปงพฤติกรรม

จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมกันไปต่างๆ นานา

ทั้งให้ฝ่ายถูกกระทำออกมาแสดงตัวเรียกร้องเอาผิด และฟากผู้เห็นใจผู้ถูกกล่าวหาว่าอาจถูกแบล็คเมล์ จนตั้งข้อสังเกตตอบโต้กันไปมาทั้งสองฝ่าย

ซึ่งเรื่องคดีความก็คงต้องไปพิสูจน์กันด้วยพยาน หลักฐาน จะเข้าข่ายความผิดในข้อกฎหมายใด น้ำหนักมีเพียงพอหรือไม่?!

นั่นเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม

แต่สิ่งที่รู้สึกกังวลและมีการกล่าวถึงกันมาก คือบทบาทหน้าที่ของ “ทนายความ” ในยุคนี้

การยื่นมือช่วยเหลือโดยเฉพาะคนที่ “ด้อยโอกาส” ในสังคม

นับว่าเป็นสิ่งที่น่ายกย่องสรรเสริญ

ถ้ากระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ

เพราะพักหลังๆ จะเห็นบทบาททนายความบางคนแสดงออกผ่านสื่อจนเกินเลยไปหรือไม่?

ลักษณะคล้ายๆ ข่มขู่คู่กรณีกลายๆ ชี้ผิดชี้ถูกจนสังคมสับสน

ทั้งๆ ที่คดีความยังเพิ่งอยู่ในกระบวนการยุติธรรมด้วยซ้ำ

บางคนอาจเลยเถิดจะเอาผิดคู่กรณีนอกเหนือจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นด้วย

หากคู่กรณีทนความกดดันไม่ไหว อาจเสนอผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อให้เรื่องราวจบลงได้หรือไม่?

ตรงนี้อาจทำให้ถูกมองได้ว่ามีผลประโยชน์แอบแฝงได้หรือไม่?

หรืออาจใช้สื่อเป็นเครื่องมือเพื่อให้ตนเองเด่น-ดัง

อย่าลืมว่าที่ผ่านมาเคยมีบทเรียนทั้ง “ตา-ยาย” เก็บเห็ด หรือ “ครูจอมทรัพย์”

ที่ศาลท่านตัดสินไม่ใช่อย่างที่ชี้นำให้ร้ายเจ้าหน้าที่!

สภาทนายความซึ่งมีหน้าที่ควบคุมมารยาทบทบาทวิชาชีพทนายความ น่าจะออกมากระตุกเตือนให้สังคมได้รับรู้บ้าง

หรือจะปล่อยให้ทนายตัดสินทางโซเชียลมีเดียกันเลย!?!

เทวินทร์ นาคปานเสือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image