ตามก้น‘พม่า-กัมพูชา’ : โดย พันธศักดิ์ รักพงษ์

กกต.ได้รับเผือกร้อนอีกชิ้นหลัง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. โยนอำนาจเคาะกรณีที่องค์กรต่างประเทศอยากเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 แม้จะโยนให้แล้ว แต่ท่าทีของ “บิ๊กตู่” ก็ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าประเทศเราต้องแก้ปัญหาของเราเองให้ได้ ไม่อยากให้ต่างชาติเข้ามา
คงไม่ต่างจากท่าทีของ ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ ยืนยันว่าไม่ควรให้ชาวต่างชาติ ซึ่งอยู่นอกประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศ เข้ามาสังเกตการณ์เพราะจะถือเป็นการเอาคนข้างนอกเข้ามา หากเปรียบเทียบประเทศที่เจริญแล้วอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ก็ไม่มีต่างประเทศเข้ามาเกาะติดเรื่องบ้านเมืองเขา ดังนั้น ถ้าเกิดต่างชาติเข้ามาติดตามการเลือกตั้งในไทย ก็แสดงว่าประเทศไทยยังมีปัญหา

การพูดของ รมว.การต่างประเทศ เหมือนหลงลืมไปว่า รัฐบาลที่ท่านนั่งอยู่ คือรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร เป็นรัฐบาลทหาร เป็นภาวะผิดปกติของประชาธิปไตยที่เหมือนถอยหลังเข้าคลอง

เพราะถ้าวัดกันแค่ระดับภูมิภาคอาเซียน แม้เศรษฐกิจของเราอาจจะดูล้ำหน้า แต่ในทางประชาธิปไตย คงไม่ต้องพูดถึง สิงคโปร์ มาเลย์ หรืออินโดนีเซีย ที่กองทัพถอยเข้ากรมกองกันหมดแล้ว เอาเฉพาะพม่าหรือกัมพูชา ที่เพิ่งผ่านการเลือกตั้งจนได้รัฐบาลพลเรือน สามารถปลดแอกประเทศจากระบอบทหารก็ถือว่าเราก็ยังตามก้น 2 ประเทศนี้อยู่เช่นกัน

ผมขอใช้คำพูดของ องอาจ คล้ามไพบูลย์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่อยากเตือนสติรัฐบาลและ กกต. เพราะเราควรเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์ได้ตามปกติเหมือนที่นานาอารยประเทศกระทำกัน เพราะถ้ามั่นใจว่าการเลือกตั้งในไทยที่กำลังจะมีขึ้นเร็วๆ นี้เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปห้ามต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้ง

Advertisement

“ถ้าผู้มีอำนาจและรัฐบาลไม่คิดจะทุจริตเลือกตั้ง จะไปกลัวอะไร ทางที่ดีควรสนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาดูได้เต็มที่ว่าการเลือกตั้งบ้านเราโปร่งใส”

ยิ่งกรรมการการเลือกตั้งของเราหน้าใหม่เกือบยกชุด ไม่เคยผ่านบททดสอบสนามเลือกตั้งมาก่อน การศึกษาระบบการเลือกตั้งของพม่าและกัมพูชาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะพม่าผ่านการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2558 ไล่เลี่ยกับประเทศเราเกิดการรัฐประหาร ปกครองด้วยระบบทหาร การเลือกตั้งครั้งนั้น คณะกรรมการเลือกตั้งพม่า หรือ UEC เปิดทางให้ผู้สังเกตการณ์ 10,500 คน ประกอบด้วย นักการทูต และคณะสังเกตการณ์การเลือกตั้งระหว่างประเทศ 1,118 คน และผู้สังเกตการณ์จากองค์กรท้องถิ่น 9,406 คน นอกจากนั้นยังมีบุคลากรด้านสื่อ 290 คน จากองค์กรสื่อต่างประเทศ 45 แห่ง เข้าร่วมรายงานการเลือกตั้งครั้งนี้

ซึ่งคณะผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งของสหภาพยุโรปหรืออียู ต้องออกประกาศว่า การเลือกตั้งทั่วไปของพม่าที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 เป็นการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและโปร่งใส

Advertisement

ขณะที่กัมพูชา มีการเลือกตั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2561 รัฐบาลและ กกต.กัมพูชา ระบุว่า มีผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งที่มาจากในประเทศจำนวนกว่า 80,000 คนจาก 112 องค์กร และผู้สังเกตการณ์ต่างชาติ องค์กรและสถานทูต จำนวนกว่า 342 คนจาก 42 ประเทศ

แม้สภาวะการเลือกตั้งครั้งนั้น ภาครัฐใช้กลไกที่ตัวเองมีบังคับให้คนไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง พร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของนานาชาติเรื่องความเสรีและยุติธรรมหรือที่เรียกว่า “ฟรีและแฟร์” เพราะการเลือกตั้งในกัมพูชาเกิดขึ้นบนเงื่อนไขที่พรรครัฐบาลไม่มีคู่แข่งเนื่องจากพรรคฝ่ายค้านถูกยุบจากคำตัดสินของศาลและมีผลให้สมาชิกพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมืองถึง 5 ปี สมาชิกพรรคจำนวนมากลี้ภัยไปต่างประเทศหรือเก็บตัวในประเทศอย่างเงียบๆ แต่อีกด้านหนึ่งกัมพูชาก็มีความพยายามทำให้การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับโดยการเชิญผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งต่างชาติเข้ามา

ดังนั้น สภาวะการเมืองและการเลือกตั้งของพม่าและกัมพูชาคล้ายคลึงกับประเทศของเรามาก หาก กกต.ได้ศึกษาหรือฟังคำชี้แนะจาก กกต.ของทั้ง 2 ประเทศอาจเห็นช่องทางดีๆ มาปรับใช้กับการเลือกตั้งในปีหน้าได้

อย่ากลัว ถ้าเราจะถูกกล่าวหาว่าตามก้น 2 ประเทศเพราะนั่นคือความเป็นจริงของประเทศไทย …

พันธศักดิ์ รักพงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image