เบรก‘สภาดิจิทัล’

ร่าง พ.ร.บ.สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เป็นอีกร่างร้อนๆ ที่ ครม.เร่งไฟเขียวเมื่อปลายปี 2561 แล้วส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเร่งด่วน
วาระแรกผ่านฉลุย พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการ 17 คนขึ้นมาพิจารณา ตั้งเป้าว่าจะผ่านวาระ 2 และ 3 เพื่อประกาศใช้ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม

แต่มีคำถามว่าร่างกฎหมายนี้สำคัญมากถึงกับต้องเร่งคลอดออกมาให้ได้เลยหรือ ทั้งๆ ที่มีเสียงท้วงติงมากมาย

ย้อนไปดูที่มาร่างกฎหมายฉบับนี้ เริ่มจากสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TFIT) ลงนามในปฏิญญาจัดตั้งสภาดิจิทัลฯ เมื่อ 4 มิถุนายน 2561 แล้วเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบก่อนส่งต่อให้ สนช.

คณะกรรมาธิการ สนช.ที่พิจารณาร่างกฎหมายนี้ ส่วนใหญ่เป็นตัวแทนของกลุ่มทุนใหญ่ทั้งนั้น และแน่นอนว่าตัวแทนเหล่านี้จะได้เข้าไปเป็นกรรมการในสภาดิจิทัลฯ ที่จะตั้งขึ้น

Advertisement

ในมาตรา 21 (8) ให้ออกข้อบังคับว่าด้วย (ก) การจำแนกกลุ่มสมาชิกตามลักษณะหรือพื้นที่ของการประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล การเลือกตั้งหรือแต่งตั้งกรรมการกลุ่มสมาชิก การประชุมและการดำเนินการของสาขาการประกอบกิจการด้านดิจิทัล ตลอดจนกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

นั่นคือ จะมีสัดส่วนกรรมการจากธุรกิจ 7 กลุ่มย่อย คือ 1.อุปกรณ์อัจฉริยะ 2.ฮาร์ดแวร์ ชิ้นส่วนดิจิทัล 3.ซอฟต์แวร์ 4.บริการดิจิทัล 5.โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 6.ดิจิทัลคอนเทนต์ และ 7.อื่นๆ ตามที่กำหนดในข้อบังคับ

แล้วในบทเฉพาะกาลของร่างกฎหมายฉบับนี้ กำหนดว่า เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ให้ยกฐานะของคณะกรรมการสมาคม TFIT และผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน เป็นคณะกรรมการคณะแรกของสภาดิจิทัลฯ โดยอัตโนมัติ

Advertisement

พร้อมให้ยกเลิกสมาคม TFIT โดยให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิและหนี้ของสมาคม ตลอดจนพนักงาน ลูกจ้าง รวมทั้งสมาชิกสมาคม TFIT ทั้งหมดไปเป็นของสภา
ดิจิทัลฯ แทน

ทำเอากรรมาธิการจากหน่วยงานอื่นๆ ถึงกับอึ้ง เพราะหากเป็นไปตามนี้ สภาดิจิทัลฯ ก็จะกลายเป็นสภากลุ่มทุนใหญ่ไปโดยปริยาย จึงมีการเสนอให้ตัดบทเฉพาะกาลนี้ทิ้ง

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่เคยเป็นแกนกลางของเอกชนกลุ่มธุรกิจดิจิทัลและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง กลับไม่ถูกให้ร่วมในสภาดิจิทัลฯนี้

นอกจากนี้ ในหลักเกณฑ์การตรวจสอบความจำเป็นในการตรา พ.ร.บ.สภาดิจิทัลฯ ที่ใช้ประกอบการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ของ สนช.มีเนื้อหาที่ไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริง

อย่างเช่น หัวข้อที่ว่าหากไม่ทำภารกิจนั้นจะมีผลประการใด มีการระบุว่า 1.รัฐบาลจะขาดองค์กรอันเป็นการรวมตัวกันของภาคเอกชนในธุรกิจดิจิทัลเพื่อให้คำปรึกษาการพัฒนาและการใช้ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

2.ผู้ประกอบธุรกิจดิจิทัลทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ของประเทศไทยจะขาดองค์กรศูนย์กลางในการให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัล

แล้วในหัวข้อการดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์มีกี่ทางเลือก มีทางเลือกอะไรบ้าง มีการระบุว่า “ไม่มีทางเลือกอื่น”

ทั้งที่ในความจริงแล้วมีทางเลือกอื่นอยู่ เพราะที่ผ่านมาการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านดิจิทัล ก็มีการประสานงานผ่านกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ของสภาอุตสาหกรรมฯอยู่แล้ว

มองกันว่าเป้าหมายหลักในการจัดตั้งสภาดิจิทัลฯ เพื่อคานอำนาจคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ขณะเดียวกันก็จะใช้สภาดิจิทัลฯนี้ ผลักดันนโยบายการใช้โครงข่ายพื้นฐานด้านโทรคมนาคมเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มทุนใหญ่ที่ต้องการใช้ประโยชน์โครงข่ายโทรคมนาคมของภาครัฐ

เป็นข้อมูลอีกด้านที่ สนช.ควรตระหนักให้ดีว่าจะยกมือให้ผ่านหรือจะเบรกร่างกฎหมายจัดตั้งสภาดิจิทัลฉบับนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image