เดินหน้าชน : ‘บิ๊กตู่’สะดุด! : โดย ทรงพร ศรีสุวรรณ

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคไทยรักษาชาติ หลายคนก็ยิ่งมั่นใจว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะลอยลำ
เก้าอี้นายกรัฐมนตรี จะเป็นของใครอื่นไปไม่ได้

เพราะการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ทำให้คะแนนของฝ่ายประชาธิปไตยหายไปหลายสิบเสียง

พรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยิ่งมั่นใจว่า จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแน่นอน

แต่ช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง การเมืองเกิดการพลิกผันอีกครั้ง

Advertisement

พรรคพลังประชารัฐ ที่คาดหวังว่าหลายพรรคจะเข้าร่วมรัฐบาล และหนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี กลับต้องแก้เกมใหม่

เมื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พูดชัดถ้อยชัดคำว่า ไม่สนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. และไม่เห็นด้วยที่ 250 ส.ว.จะร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี

ซึ่งหมายถึงไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

Advertisement

ตามติดมาด้วย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ประกาศชัดเจนว่า ไม่ขอสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

โดยให้เหตุผลว่า การสืบทอดอำนาจเท่ากับสร้างความขัดแย้ง และขัดกับอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่ 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจย่ำแย่ ประเทศเสียหายมามากพอแล้ว

พร้อมย้ำว่า “หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ”

ซึ่งเป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนจาก “อนุทิน” และ “อภิสิทธิ์”

แม้หลายคนจะมองว่า เป็นเพียงวาทกรรมเพื่อหวังโกยคะแนนในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง แต่ก็เป็นสัญญาผูกมัดทั้ง “อนุทิน” และ “อภิสิทธิ์” ที่ต้องรักษาคำพูด

ทั้งยังสะเทือนถึง พล.อ.ประยุทธ์

เก้าอี้นายกรัฐมนตรี ที่เห็นโดดเด่นอยู่ข้างหน้า เริ่มจะพร่ามัว

แต่การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน และเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ซึ่งอาจจะพลิกผันอีกครั้งหลังรู้ผลการเลือกตั้ง

เหตุเพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่พรรคเพื่อไทยและพรรคเครือข่ายฝ่ายจะประชาธิปไตย จะได้รับเลือกตั้ง ส.ส. รวมกันแล้ว 376 เสียงขึ้นไป เพื่อจัดตั้งรัฐบาล แล้วผลักพรรคพลังประชารัฐไปเป็นฝ่ายค้าน และส่ง พล.อ.ประยุทธ์ กลับบ้าน

เว้นแต่ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ จับมือกันเพื่อสกัดการสืบทอดอำนาจ แต่ทั้ง 2 พรรคก็ประกาศชัดเจนแล้วว่าอยู่กันคนละขั้ว และไม่มีทางที่จะจับมือกันเด็ดขาด

ดังนั้น โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จจึงเป็นศูนย์

พรรคประชาธิปัตย์ก็เช่นกัน ที่คาดเดาตัวเลขกันแล้วก็เชื่อว่า ไม่มีโอกาสที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ยิ่งมี ส.ว. 250 คน ที่จะร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะมีใครกล้ายกมือโหวตเลือกคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย หรือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ หรือนายอนุทิน ชาญวีรกูล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย

โอกาสจึงยังเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าพรรคพลังประชารัฐรวบรวมเสียง ส.ส.ได้จำนวนหนึ่ง ให้เพียงพอที่จะไปรวมกับเสียงของ ส.ว.ให้ได้ 376 เสียงขึ้นไป

หรืออาจจะเกิด ส.ส.งูเห่า อีกจำนวนหนึ่งมาร่วมยกมือหนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็อาจจะมีความเป็นไปได้เช่นกัน
แต่หากพรรคการเมืองจับขั้วกันตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ หรือ ส.ว.ไม่ฟังเสียงประชาชน ก็จะเหลือทางเลือกสุดท้ายคือ จะมี ส.ส.และ ส.ว.เข้าชื่อเสนอให้ปลดล็อก ให้มี “นายกฯ คนนอก” ตามบทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 ประกอบมาตรา 159

แต่ทางเลือกนี้ นายกรัฐมนตรีจะไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image