เดินหน้าชน : อนค.พุ่ง-ปชป.พ่าย

ปรากฏการณ์พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่ขายภาพหัวหน้าพรรค ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สามารถกวาด ส.ส. 30 เขต และ 58 ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ รวมกันทะลุ 88 คน ซึ่งในสนามการเมืองผมเชื่อว่า อนค.ถือเป็นพรรคที่มีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งน้อยที่สุด หากเทียบกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยก
ตัวเองเป็นสถาบันการเมือง มีอายุเก่าแก่มากที่สุดของประเทศ แต่ได้ ส.ส.แค่ 56 คน แพ้ยับเยินที่สุด จนกลายเป็นเงื่อนไขให้ “มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคต้องประกาศลาออกทันที

ผมพยายามจับปรากฏการณ์ของ อนค.ไปอ่านเจอข้อเขียนในเฟซบุ๊กที่มีการแชร์กันของ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ นิด้า ที่อธิบายปรากฏการณ์ไว้น่าสนใจว่า การที่วัยรุ่นออกมาบอกว่า งงว่าคะแนนของ พลังประชารัฐ (พปชร.) มาจากไหนเยอะแยะ ทั้งที่มีแต่คนด่า ทางทฤษฎีการสื่อสาร เรียกว่า Spiral of Silence หรือวงเกลียวแห่งความเงียบ ที่อธิบายว่า เมื่อมีการถกเถียงกันในประเด็นหนึ่งเป็นสองฝ่าย คนที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนกลุ่มน้อย ก็จะเลือกที่จะไม่แสดงออก จนเสียงนั้นเงียบไป แต่ไม่จำเป็นว่าจะเปลี่ยนใจ พอเสียงข้างหนึ่งยิ่งเงียบ คนก็ยิ่งไม่กล้าแสดงออก (เป็นวงเกลียวที่น้อยลงไปเรื่อยๆ)

แต่ก็จะยังมีคนที่กล้าแสดงออกอีกเล็กน้อย ซึ่ง Elizabeth Noelle-Neumann คนคิดทฤษฎีนี้อธิบายว่า คนกลุ่มนี้ มีสองกลุ่มคือ Moral Hero (ผู้กล้าทางศีลธรรม คือคนที่มั่นใจในความคิดตัวเองและกล้าที่จะพูดในสิ่งที่ตนคิดว่าถูกต้อง) หรือ Criminal (อาชญากร ซึ่งก็คือคนรับจ้างมาสู้)

ซึ่งในสถานการณ์นี้ สรุปง่ายๆ คือ ใน “สังคม” โลกโซเชียลกระแส “ไม่เอาลุงตู่” ดูจะเป็นกระแสหลัก เพราะประชากรของสังคมนี้ (netizen) เป็นวัยรุ่นและวัยทำงาน (liberal) คนที่เชียร์ พปชร. ที่ส่วนมากเป็นพวกอนุรักษนิยม (conservative) จึงกลายเป็นส่วนน้อย คนจำนวนมากจึงไม่กล้าแสดงความเห็น เพราะไม่อยากต้องมาอธิบายหรือต่อสู้ทางความคิด (หลายคนก็อายุมาก มีเวลาว่างน้อยกว่าวัยรุ่น หรือบางส่วนก็ไม่เล่น
โซเชียลแบบเปิด ใช้แค่ไลน์หรือคุยส่วนตัว) หรือคุยก็คุยกันเองในกลุ่มที่คิดเหมือนกัน แต่ในขณะที่วัยรุ่นนั้นพร้อมแสดงออก และยิ่งแสดงออกก็ยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้น เสียงก็ดังขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะใน Twitter ที่จริงๆ ก็มีแต่วัยรุ่นอยู่แล้ว จนเสียงที่ดูเหมือนค้านนั้นกลายเป็นเสียงส่วนน้อยที่แพ้เสียงส่วนใหญ่ แต่ยังคงตัดสินใจเหมือนเดิม

Advertisement

จึงนำไปสู่ความเข้าใจผิดของวัยรุ่นว่าไม่มีใครเชียร์พปชร. เสียงเชียร์ที่ตอนแรกๆ มีนั้นหายไปแล้ว (คงโดนเราเปลี่ยนใจแล้วมั้ง) หรือภาษาการตลาดเรียกว่า share of voice นั้น พปชร.สู้ไม่ได้เลยในโลกโซเชียล แต่ยังคงรักษา mind share และสะสม heart share จนนำไปสู่ market share ในที่สุด

และเช่นเดียวกัน เหล่าคนสูงวัยก็คงไม่ต้องงงว่าเสียงของ อนค.มาจากไหนเยอะแยะ ก็เพราะเค้าอยู่คนละโลกกับเหล่าผู้สูงวัย คุณจึงไม่เห็นเสียงของพวกเค้าในโลกของคุณ ใครชื่นชมพรรคส้ม คุณก็ unfriend ไง แต่ในโลกของเค้า เค้าเชื่อว่าดันธนาธรขึ้นเป็นนายกฯได้ด้วยซ้ำ (ก็มองไปรอบตัวมีแต่เลือกหมด ทำไมจะไม่ได้) มันก็มาจากการที่คนทั้งสองกลุ่ม “อยู่คนละวงเกลียวกัน”

อีกมุมหนึ่ง ธนศักดิ์ สายจำปา อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์ความตกต่ำของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อย่างน่าฟังว่า เงื่อนไขใหญ่ที่ทำให้เสียงหายไปเยอะ คือ การประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมกับ พปชร. แน่นอนว่าคนชั้นกลางที่เป็นฐานเสียงของ ปชป.ก็คงเป็นฐานเสียงของ พปชร.ด้วย ดังนั้น เข้าใจว่าคนที่จะเชียร์ลุงตู่ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ก็ไปเลือก พปชร.เลยดีกว่า เพื่อความชัวร์ อย่างพื้นที่ กทม. ปชป.เคยครองฐานเสียงเยอะมาก ทำให้เห็นได้ชัดพอสมควรว่าเสียงกระจายไปอยู่ที่อื่น คนที่อยากเชียร์ลุงตู่ก็เลือก พปชร. คนที่ไม่เชียร์ลุงตู่ก็เลือก อนค.หรือพรรคอื่น

Advertisement

ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี มองว่า ปชป.ยังอยู่กับวิธีการเก่าๆ เดิมๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลง จึงไม่น่าแปลกใจกับวิธีการเดิม ที่ไม่ได้ยึดบนหลักการที่แท้จริงของพรรค คนที่สนับสนุนก็อาจตัดสินใจเลือกพรรคอื่นจากการไม่มีจุดยืนของพรรคเอง ที่เน้นเรื่องการสร้างวาทกรรมในการให้ร้ายคู่แข่งทางการเมือง จึงไม่สามารถช่วยให้ได้เสียงจากฐานเดิมหรือจากคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น

ประชาชนได้มอบบทเรียนทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image