เดินหน้าชน: 2ทางเลือกปชป.

พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่สามารถลบคำสบประมาทเรื่องแพ้ซ้ำซากได้

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา หล่นลงมาอยู่อันดับ 4 แพ้ให้กับพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคอนาคตใหม่

ที่หนักสุดคือ สูญพันธุ์ในพื้นที่ กทม.

ทำให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องลาออกจากหัวหน้าพรรค ตามคำพูดที่ประกาศไว้ว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.ต่ำกว่า 100 เสียง จะลาออก

Advertisement

ทั้งนี้้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 7 ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2548

นำทัพพรรคประชาธิปัตย์ลงสนามเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 แพ้ให้กับพรรคพลังประชาชน

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 แพ้ให้กับพรรคเพื่อไทย ทำให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องโชว์สปิริตลาออกจากหัวหน้าพรรค ซึ่งเป็นการลาออกจากหัวหน้าพรรคครั้งแรก

Advertisement

ครั้งที่ 2 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากหัวหน้าพรรค เพื่อให้มีการโหวตเลือกหัวหน้าพรรค

ครั้งนี้ จึงเป็นครั้งที่ 3 ที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ลาออกจากหัวหน้าพรรค หลังนำทัพประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้่งเป็นครั้งที่ 3

หากยังจำกันได้ พรรคประชาธิปัตย์เคยมีการว่าจ้างบริษัทเอกชนทำวิจัยถึงเหตุผลว่า “ทำไม ปชป.ถึงแพ้การเลือกตั้งให้กับพรรคเพื่อไทย”

มีการเปรียบเทียบผู้นำพรรค ระหว่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ ทักษิณ ชินวัตร และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ซึ่งผลสำรวจสรุปว่า 3 เหตุผลที่แพ้คือ 1.เชื่องช้า ไม่กล้าตัดสินใจ 2.บริหารงานไม่เป็น และ 3.ไม่ติดดินไม่ใกล้ชิดประชาชน

ทั้งยังมีการเปรียบเทียบว่า พรรคประชาธิปัตย์เหมือนรถเบนซ์หางปลา หรือเบนซ์รุ่นเก่า หรือรถฮอนด้าซีวิค ติดเครื่องอีแต๋น คือ ภาพลักษณ์ดี แต่ไม่มีประสิทธิภาพ ในขณะที่พรรคเพื่อไทย กล้าคิดกล้าทำ ตอบสนองประชาชนได้ดี เหมือนรถเฟอร์รารีรุ่นใหม่ติดเครื่องคูโบต้าอเนกประสงค์

ผลวิจัยที่ออกมา ทำให้พรรคประชาธิปัตย์พยายามยกเครื่องใหม่ พร้อมปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การทำงาน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน

แต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์กลับแพ้อย่างหมดรูป

แน่นอนว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ย่อมเจ็บปวด แต่ที่เจ็บปวดยิ่งกว่าคือ คำพูดของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ก่อนการเลือกตั้ง และ วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่ออกมาซ้ำอีกภายหลังการเลือกตั้ง

ซึ่งจะว่าไปแล้ว มีเหตุให้น่าเห็นใจ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ไม่สามารถทำให้พรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งได้

หนึ่งคือ การบอยคอตการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ทั้งยังถูกกล่าวหาว่า เล่นสองหน้ากับ กปปส.ที่ชัตดาวน์กรุงเทพฯ และเชิญทหารออกมาปฏิวัติ

หนึ่งคือ สมาชิกจำนวนหนึ่งย้ายพรรค ทำให้พลังลดลง

หนึ่งคือ การโหวตเลือกหัวหน้าพรรค ส่งผลให้เกิดรอยร้าวภายใน ทำให้พรรคไม่มีเอกภาพ

หนึ่งคือ คนชั้นกลางใน กทม.ส่วนหนึ่งเปลี่ยนใจไปเชียร์พรรคพลังประชารัฐ

หนึ่งคือ ทหารส่วนใหญ่ที่เคยเลือก ก็ย้ายไปเทคะแนนให้พรรคพลังประชารัฐ

หนึ่งคือ แพ้กระแสความใหม่และถูกใจวัยรุ่นของพรรคอนาคตใหม่

อีกหนึ่งคือ การเสนอตัวเป็นทางเลือกที่ 3 คือ “ไม่เอาบิ๊กตู่” และไม่ร่วมกับพรรคเพื่อไทย ทำให้ประชาชนสับสน ทั้งที่การเลือกตั้งครั้งนี้มีแค่ 2 ทางเลือกคือ “เอาบิ๊กตู่” และ “ไม่เอาบิ๊กตู่“

การแพ้เลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้เสียดายอดีต ส.ส.หลายคนของพรรคประชาธิปัตย์ที่สอบตก และเสียดายผู้สมัครหน้าใหม่หลายคนที่เจอประสบการณ์เป็น ส.ส.สอบตกครั้งแรก

แต่เชื่อว่า พรรคประชาธิปัตย์จะฟื้นกลับมาได้ ถ้าโละทิ้งความคิดเก่าๆ แล้วเริ่มทำพรรคใหม่เหมือนตั้งพรรคใหม่

ที่สำคัญคือ ต้องคิดให้ละเอียดว่า จะร่วมเป็นรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน เพราะไม่มีทางที่ 3 ให้เลือกอีกแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image