เดินหน้าชน – ‘ปชป.’ฝ่ายค้านอิสระ

ความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ตามกรอบเวลาในการเลือกกรรมการบริหารชุดใหม่ สามารถดำเนินการได้ไม่เกินวันที่ 23 พ.ค. ซึ่งจะครบกำหนด 60 วันภายหลัง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคลาออกแสดงความรับผิดชอบหลังพ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างยับเยิน

ก่อนหน้านี้ เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การเลือกตั้ง กก.บห.ชุดใหม่ 7 คน ได้กำหนดนัดประชุมใหญ่ในวันที่ 15 พ.ค.เพื่อเลือกหัวหน้าและ กก.บห.ชุดใหม่ โดยจะให้ผู้เสนอตัวเป็นหัวหน้าพรรคแสดงวิสัยทัศน์คนละ 15 นาที โดยไม่เปิดให้ที่ประชุมอภิปรายและควรงดเว้นไม่ต้องทำการหยั่งเสียงเพราะมีข้อจำกัดเรื่องเวลาและจะได้ไม่มีปัญหาความขัดแย้ง

ท่ามกลางกระแสจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะอย่าลืมว่า 52 เสียงของประชาธิปัตย์ คือ ตัวแปรสำคัญ ไม่ว่าพลิกไปอยู่ขั้วไหนระหว่างพรรคพลังประชารัฐ หรือ พรรคเพื่อไทยและพรรคพันธมิตร ตัวเลขทางคณิตศาสตร์ย่อมจะแปรเปลี่ยนไปทันที

กระแสข่าวประชาธิปัตย์ยื่นเงื่อนไขขอนั่งประธานสภามอบให้ บัญญัติ บรรทัดฐาน ตำแหน่งเดียว แลกไม่เอาเก้าอี้รัฐมนตรี หวังสกัดงูเห่าป้องกันพรรคแตก นั่นย่อมเป็นแนวทาง “โยนหินถามทาง” ต่อสมาชิกของพรรคเก่าแก่แห่งนี้

Advertisement

แม้จะมีรายงานข่าวว่าแกนนำของพรรคบางส่วนออกไปเจรจากับแกนนำพลังประชารัฐในการที่จะเข้าร่วมรัฐบาล โดยยื่นเงื่อนไขขอตำแหน่งเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯเพียงตำแหน่งเดียว

พรรคประชาธิปัตย์ส่งเงื่อนไขไม่ขอรับตำแหน่งรัฐมนตรีใดๆ ทั้งนี้ มีการเสนอให้นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการที่ปรึกษาและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยให้เหตุผลว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องการทำงานในสภาเพียงอย่างเดียว และจะไม่เกี่ยวข้องกับการจัดโควต้ารัฐมนตรี

ประชาธิปัตย์ต้องการทำหน้าที่ในสภาเพื่อต้องการให้สภาเป็นทางออกสำหรับการแก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศเวลานี้

Advertisement

การเสนอขอตำแหน่งประธานสภาเพียงตำแหน่งเดียวครั้งนี้ นอกจากต้องการเข้าไปทำงานสภา ซึ่งเป็นแนวทางถนัดของพรรคแล้ว ยังจะเป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคด้วย

เนื่องจากกลุ่มที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี นำโดย นายถาวร เสนเนียม ว่าที่ ส.ส.สงขลา กำลังเดินเกมผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่

ขณะเดียวกันมีรายงานว่าแกนนำพรรคประชาธิปัตย์บางส่วนยังได้เสนอไปยังพรรคเพื่อไทยเพื่อขอให้สนับสนุนคนของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานสภา ภายใต้เงื่อนไขเดิม คือ ไม่ขอรับตำแหน่งรัฐมนตรี หรือ เข้าร่วมจัดสรรโควต้าคณะรัฐมนตรี

เป้าหมายหลักของประชาธิปัตย์ คือ ต้องการเป็นฝ่ายค้านอิสระ เพราะเห็นว่าหากไปร่วมรัฐบาลไม่ว่าจะฟากใด ยิ่งจะทำให้พรรคมีกระแสตกต่ำลงไปอีก

แกนนำระดับผู้ใหญ่ของพรรคประเมินว่า สูตรขอตำแหน่งประธานสภาผู้ราษฎร เพียงตำแหน่งเดียว เพื่อพรรคจะได้ออกเสียงไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีเอกภาพ และแนวทางการป้องกันพรรคแตกอีกด้วย

ความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้รอเพียงความไม่ชัดเจนของ กกต. ปมการคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อและการรับรอง ส.ส.อย่างเป็นทางการ

ชั้นเชิงการเมืองเมื่อต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ ก็ยังคงความเป็นตัวตนของประชาธิปัตย์ แต่การตัดสินใจด้วยเงื่อนไขขอเป็นฝ่ายค้านอิสระนั่นย่อมแสดงถึงการยอมรับผลการเลือกตั้ง ยอมรับความพ่ายแพ้

ถึงเวลาที่ประชาธิปัตย์ต้องยกเครื่องการทำงานการเมืองครั้งใหญ่…

พันธศักดิ์ รักพงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image