เดินหน้าชน : ย้อนอ่าน‘มีชัย’

การเลือกตั้ง ส.ส.ผ่านมาแล้วกว่า 1 เดือน แต่ยังไม่มีความชัดเจนในหลายเรื่อง
ไม่รู้ว่าแต่ละพรรคจะมี ส.ส.กี่คน เพราะ กกต.ยังไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ และยังไม่รู้ว่า กกต.จะสอยผู้สมัคร ส.ส.ที่ถูกร้องเรียน หรือสั่งให้มีการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งไหนบ้าง

รวมทั้งยังไม่รู้ว่า จะใช้สูตรไหนคิด ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์

กกต.ที่มีหน้าที่โดยตรงก็ไม่มั่นใจ จึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง

ปัญหาที่ กกต.ไม่มั่นใจว่า จะใช้สูตรไหนนั้น มีสาเหตุมาจากการตีความข้อกฎหมายที่ไม่ตรงกัน

Advertisement

ซึ่งเรื่องการตีความกฎหมายที่แตกต่างกันนี้ เป็นปัญหาหนึ่งของสังคมไทย

มีการกล่าวหาว่า ตีความเข้าข้างตัวเอง หรือใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม ส่งผลให้เกิดคำถามเรื่องมาตรฐานและส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง

ที่ผ่านมา ทุกครั้งที่มีความเห็นข้อกฎหมายไม่ตรงกัน จะมีคำถามว่า ทำไมไม่เขียนให้เข้าใจง่าย ไม่ต้องตีความ หรือเถียงกันข้างๆ คูๆ

Advertisement

ซึ่ง “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้เคยให้ความเห็นไว้

โดยเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่คำบรรยายของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ในฐานะประธานกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 หัวข้อ “แนวความคิดเกี่ยวกับความจำเป็นต้องมีกฎหมาย และเทคนิคการร่างกฎหมายที่ดี” ณ ห้องประชุมสมภพ โหตระกิตย์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2547

เริ่มแรก มีชัย ฤชุพันธุ์ ออกตัวว่า การร่างกฎหมายไม่ใช่เป็นวิชาที่จะบรรยายกันได้ ที่ทำได้คือ การเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า ทำอย่างไรถึงจะร่างกฎหมายได้ โดยอาศัยการเก็บเล็กผสมน้อยจากประสบการณ์ในการทำงานเป็นกรรมการร่างกฎหมายมาครึ่งชีวิต และนำมาเล่าสู่กันฟัง

ตอนหนึ่ง มีชัย ฤชุพันธุ์ พูดถึงคำที่ชอบกล่าวกันว่า ทำไมภาษากฎหมายเป็นภาษาที่เข้าใจยาก ทำไมไม่เขียนให้อ่านง่ายๆ ว่าหลักในการเขียนกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับภาษา มีอยู่ว่า ต้องเป็นภาษาที่เรียบง่าย คือ 1.ไม่ฟุ่มเฟือย ต้องกระชับ 2.ไม่ใช้ถ้อยคำที่แตกต่างกันในที่ต่างๆ ในเมื่อต้องการให้มีความหมายอย่างเดียวกัน 3.ถ้อยคำที่ใช้ต้องมีความหมายชัดเจนตรงตามที่ต้องการ

ส่วนวัตถุประสงค์ของกฎหมาย สำหรับนักร่างกฎหมาย มีชัย ฤชุพันธุ์ ระบุว่า มี 2 ประการ 1.การกำหนดกฎเกณฑ์ที่สังคมประสงค์ ซึ่งอาจเป็นการสั่งให้ทำให้งดเว้นการ
กระทำ หรือวางกติกาให้ทำ และ 2.สื่อความหมายของกฎเกณฑ์หรือกติกานั้นให้คนอื่นเข้าใจตรงตามที่เราต้องการ โดยอย่างน้อยจะต้องสื่อไปยังคนที่เกี่ยวข้อง 3 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมาย คือ กฎหมายใช้บังคับใคร พวกนั้นก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบ
2.กลุ่มคนที่มีบทบาทให้คำแนะนำ เช่น ทนายความ นักสอบบัญชี
3.กลุ่มคนที่เอากฎหมายไปใช้บังคับ เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล

พร้อมสรุปว่า ผู้ร่างกฎหมายจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อทำให้คน 3 กลุ่มเข้าใจอย่างที่ผู้ร่างเข้าใจ ถ้าคน 3 กลุ่มไม่เข้าใจ แปลว่าคุณล้มเหลว เพราะกฎหมายจะถูกบังคับไปอีกทิศทางหนึ่ง หรือถูกขยายไปเกินจากที่คิดไว้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่สังคมหรือประชาชนได้

กรณีที่เกิดขึ้นกับสูตรคิด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่คนอ่านรัฐธรรมนูญ 2560 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.แล้วมีความเห็นไม่ตรงกัน จึงมีคำถามว่า คนอ่านไม่เข้าใจจริง หรือเข้าใจแต่ตะแบงเข้าข้างตัวเอง หรือคนร่างล้มเหลว

ทรงพร ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image