เดินหน้าชน : ปชป.ภาระหนัก

พรรคประชาธิปัตย์มีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เนื่องจากการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

สาเหตุการลาออกของนายอภิสิทธิ์ เป็นไปตามคำประกาศไว้ว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเลือกตั้งไม่ถึง 100 คน จะลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

โดยการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ มีผู้เสนอตัว 4 คนคือ

1.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

Advertisement

2.นายกรณ์ จาติกวณิช รักษาการรองหัวหน้าพรรค และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

3.นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตรองหัวหน้าพรรค และอดีตผู้ว่าฯกทม.

4.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตกรรมการบริหารพรรค และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

Advertisement

ซึ่งยังไม่รู้ว่า ใครจะได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค เพราะข้อเขียนนี้ เขียนเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง 1 วัน แต่ไม่ว่าหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่จะเป็นใคร ก็มีภาระอันหนักอึ้งรอคอยอยู่เบื้องหน้า อย่างน้อย 3 เรื่อง

หนึ่งคือ การตัดสินใจหรือกำหนดทิศทางของพรรคว่า จะเข้าร่วมเป็นรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ หรือเป็นฝ่ายค้านอิสระ

ประเด็นนี้ เสียงภายในพรรคแตกเป็น 2 ฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งหนุนให้เข้าร่วมเป็นรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่า ประชาชนสนับสนุน และสามารถนำนโยบายของพรรคที่หาเสียงไว้นำไปปปฏิบัติให้เป็นจริง เป็นการสร้างผลงานเพื่อเรียกความศรัทธา ความเชื่อมั่น และคะแนนนิยมของพรรคให้กลับคืนมาอีกครั้ง

ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ควรเป็นฝ่ายค้านอิสระ เพราะหากเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ จะถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ

ขณะที่ฝ่ายของผู้อาวุโสของพรรค ที่ยังมากด้วยบารมี ได้ออกมาเตือนให้ระวัง และสงวนท่าทีในการแสดงออก อย่าผลีผลามเข้าร่วมรัฐบาลเพราะอยากได้ตำแหน่งรัฐมนตรี

สองคือ การฟื้นฟูพรรค เรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาโดยเร็ว โดยต้องกำจัดจุดอ่อนและสร้างจุดแข็ง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งครั้งใหม่

สามคือ แก้ปัญหาความขัดแย้ง หรือการแบ่งกลุ่มแบ่ง ก๊วนภายในพรรค

โดยการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งก่อน ที่เป็นการสู้กันระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และนายอลงกรณ์ พลบุตร เป็นปัจจัยหนึ่งที่เกิดความขัดแย้ง

แม้แกนนำพรรคหลายคนจะยืนยันตรงกันว่า เมื่อเลือกหัวหน้าพรรคจบ ก็จับมือกันทำงานเพื่อพรรคเหมือนเดิม แต่ปฏิเสธรอยร้าวที่เกิดขึ้นไม่ได้

การคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.เขต และการจัดวางอันดับผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็มีปัญหาความไม่พอใจจากผู้สมัครหลายคน และมีบางคนที่ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคครั้งใหม่นี้ แม้ว่าจะเป็นประชาธิปไตย แต่อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดความความขัดแย้งภายในพรรคเกิดขึ้นอีก หรืออาจจะขยายวงความขัดแย้งเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งที่ผ่านมา

เนื่องจากผู้สมัครหัวหน้าพรรคแต่ละคน จะต้องมีผู้อยู่เบื้องหลังและหาเสียงสนับสนุน

เมื่อฝ่ายหนึ่งได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค และแม้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งแม้จะยอมรับกติกา แต่อาจจะมีปมในใจ หรือไม่พอใจที่ผู้ใหญ่ในพรรคและคนในพรรคไม่สนับสนุน ซึ่งส่งผลต่อการทำงานร่วมกันภายในพรรค

อาจจะไม่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ที่พร้อมจะร่วมมือร่วมใจกันฟื้นฟูพรรค

สุดท้าย ถ้ากำหนดทิศทางของพรรคผิดอีกครั้ง วิกฤตจะยิ่งหนักขึ้นอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image