เดินหน้าชน : สัญญา

ใครที่สัมผัสหรือติดตามการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด จะไม่แปลกใจที่พรรคประชาธิปัตย์มีมติเข้าร่วมรัฐบาล ที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ และโหวตหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.เป็นนายกฯอีกสมัย

แม้ก่อนหน้านั้น จะมีข่าวว่าภายในพรรคประชาธิปัตย์จะเสียงแตก ความคิดเห็นแบ่งออกเป็น 2-3 ฝ่าย ก็จะไม่แปลกใจเช่นกัน

โดยทันทีที่รู้ข่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ตอบรับเข้าร่วมรัฐบาล ก็จะมีคำตอบลักษณะคล้ายๆ กัน อาทิ ว่าแล้ว, ไม่เหนือความหมาย, เป็นไปตามคาด, ไม่ประหลาดใจ, รู้อยู่แล้ว ฯลฯ

เหตุผลที่ร่วมรัฐบาล จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า เนื่องจากเงื่อนไขของพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการตอบรับจากพรรคพลังประชารัฐ 3 ข้อ

Advertisement

1.เรื่องนโยบายแก้จน สร้างคนสร้างชาติ
2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
3.เงื่อนไขการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปอย่างสุจริต
ทั้งยังระบุข้อดีของการเข้าร่วมรัฐบาล 5 ข้อ
1.เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นความไม่แน่นอนทางการเมือง
2.ให้ประเทศมีรัฐบาลซึ่งมีเสียงข้างมากในสภา
3.ให้ประเทศได้ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง
4.การตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว หรือปิดสวิตช์ คสช.
5.เพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ยังระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่ว่า เมื่อเข้าร่วมรัฐบาลแล้วจะกอดคอกันตลอดไป โดยพรรคประชาธิปัตย์ยังมีเงื่อนไขคือ หากผิดไปจากเงื่อนไขที่ตอบรับ 3 ข้อ พรรคประชาธิปัตย์อาจทบทวนเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาล

โดยเงื่อนไขข้อสุดท้ายนี้ คนที่ติดตามการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะมีคำตอบคล้ายๆ กันคือ โอกาสที่จะเป็นไปได้แทบจะไม่มี

ซึ่งเงื่อนไขของพรรคประชาธิปัตย์ในการเข้าร่วมรัฐบาล ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า น่าจะเป็นข้ออ้าง หรือเป็นคำตอบที่ดูดีต่อประชาชนเสียมากกว่า

วิจารณ์กันว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ บริหารประเทศมา 5 ปี แต่ยังมีเสียงเรียกร้องให้แก้ปัญหาปากท้อง ยังมีปัญหารวยกระจุก จนกระจาย แล้วจะแก้จน สร้างคน สร้างชาติได้จริงหรือ

ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยิ่งมองกันว่า เป็นเรื่องยากที่จะทำได้

นอกจากช่องทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะยากแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.

เป็นรัฐธรรมนูญ ที่ คสช.ให้คำแนะนำเกี่ยวกับยกร่าง

เป็นรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดกลไกหนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อ โดยเฉพาะการมี ส.ว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. และให้ ส.ว.มีอำนาจโหวตนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. เป็นรัฐธรรมนูญ ที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา

จึงมีคำถามว่า เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ คสช.และเอื้อประโยชน์ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ จะร่วมมืออย่างจริงใจหรือยอมให้มีการแก้ไขหรือ

แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เสนอเงื่อนไขแล้วบอกว่า พรรคพลังประชารัฐไฟเขียว ก็จะเป็นสัญญาประชาคม ที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องทำตามโดยเร็ว

จะโยกโย้ว่า จะต้องเร่งแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนก่อน ก็คงไม่ใช่เหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังได้

ต้องไม่ลืมว่า การเลือกหัวหน้าพรรค 2 ครั้งที่ผ่านมา และการมีมติร่วมรัฐบาล ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับพรรคประชาธิปัตย์

จึงต้องทำตามสัญญา อย่ากลับกลอก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image