เดินหน้าชน : ‘ดอกเบี้ย-รถไฟฟ้า’

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯรอบ 2 ที่มาจากการเลือกตั้งครั้งนี้ มีพรรคการเมืองเข้าไปมีบทบาทผลักดันนโยบาย ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้การบริหารของข้าราชการประจำ ดังนั้นมาตรการหรือนโยบายที่ออกมาจึงถูกตั้งคำถามว่าจะยึดโยงกับประชาชนมากน้อยแค่ไหน

ผมมีกรณีตัวอย่างที่ท้าทายสำนึกของพรรคการเมืองต่อคำว่า “ยึดโยงกับประชาชน”

กรณีของ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่โพสต์ข้อความระบุว่า “ธนาคารพาณิชย์เคยกำไรแสนล้านต่อปีก็ว่ามากแล้ว ปีนี้ฟันเกือบ 2 แสนล้านบาท ถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลจะมีนโยบายการเงินไม่ให้ธนาคารเอาเปรียบลูกค้า รัฐต้องไม่ปล่อยให้ช่องว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝากถ่างถึง 6-7% ลดภาระดอกเบี้ยให้คนผ่อนบ้าน ลดต้นทุนให้ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ไม่ดีหรือ ปี 2555 ช่องว่างของดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก หรือที่เรียกว่า spread ประมาณ 4-5% ตอนนี้อยู่ที่ 6-7% ไม่แปลกที่มีคนไม่น้อยเชื่อว่านโยบายรัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้นายทุน”

“ธนาคารพาณิชย์ต้องมีกำไร แต่ต้องไม่ทำกำไรบนความเดือดร้อนของผู้บริโภคทั่วไป ไม่ควรมุ่งหากำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเป็นหลัก ควรหากำไรจากค่าบริการการทำธุรกรรมทางการเงินมากกว่า ตอนนี้ธนาคารเล่นทั้งสองทางครับ ดอกเบี้ยฟาดเต็ม ค่าบริการก็เอาด้วย กำไรถึงไหลมาเทมา”

Advertisement

อีกกรณีหนึ่ง คือ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่แพงเกินค่าครองชีพของคนกรุงเทพฯ เพราะผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอเปรียบเทียบค่ารถไฟฟ้าในเมืองหลวงพบว่า ไทยมีราคาค่อนข้างสูงหรือเฉลี่ยราว 28.30 บาท/เที่ยว สูงกว่าค่ารถไฟฟ้าของสิงคโปร์มากกว่า 50% โดยค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ยของสิงคโปร์อยู่ที่ 13.3 บาท/คน/เที่ยว ส่วนฮ่องกงอยู่ที่ 16.78 บาท/คน/เที่ยว

เมื่อเปรียบเทียบต่อ 1 กิโลเมตรของผู้โดยสารในไทยสูงกว่าประเทศอื่น มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 14.8 บาท สูงกว่าสิงคโปร์ 6 เท่าและสูงกว่าฮ่องกง 3 เท่า คือ เมืองลอนดอนอยู่ที่ 12.4 บาท สิงคโปร์อยู่ที่ 2.3 บาท และฮ่องกง 4.08 บาท

ล่าสุด สามารถ ราชพลสิทธิ์ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ เปิดสูตร “หั่นค่าโดยสารรถไฟฟ้า” เสนอให้ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าเหลือ 15 บาทตลอดสาย เฉพาะเส้นทางที่รัฐบาลลงทุนเองทั้งหมด 100% ซึ่งได้เสนอให้เป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา

Advertisement

ข้อเสนอดังกล่าว คือ 1.รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงคลองบางไผ่-เตาปูน ค่าโดยสารอยู่ระหว่าง 14-42 บาท หากต้องการเดินทางต่อไปถึงหัวลำโพงจะต้องเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินโดยต้องเสียค่าโดยสารเพิ่มอีก 28 บาท รวมค่าโดยสารทั้งหมด 70 บาท (42+28) แต่ถ้าลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหลือ 15 บาทตลอดสาย จะทำให้ค่าโดยสารจากคลองบางไผ่ถึงหัวลำโพงลดลงเหลือ 43 บาท (15+28)

2.รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเหนือ ช่วงหมอชิต-คูคต หากต้องการเดินทางจากคูคตถึงสยาม ตามอัตราค่าโดยสารในปัจจุบันจะต้องเสียค่าโดยสาร 105 บาท แต่ถ้าลดค่าโดยสารช่วงคูคต-หมอชิต เหลือ 15 บาทตลอดสาย จะทำให้ค่าโดยสารลดลงเหลือ 59 บาท (15+44) และ 3.รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายใต้ ช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ หากต้องการเดินทางจากเคหะฯถึงสยาม ตามอัตราค่าโดยสารในปัจจุบันจะต้องเสียค่าโดยสาร 99 บาท แต่ถ้าลดค่าโดยสารช่วงเคหะฯ-อ่อนนุช เหลือ 15 บาทตลอดสาย จะทำให้ค่าโดยสารลดลงเหลือ 59 บาท (15+44)

นอกจากนี้ รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้งเหนือและใต้นั้น รัฐบาลต้องการให้บีทีเอสลงทุนค่าขบวนรถไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร และระบบตั๋ว เป็นเงินประมาณ 21,000 ล้านบาท หากรัฐบาลควรลงทุนเองทั้งหมดจะสามารถลดค่าโดยสารเหลือ 15 บาทตลอดสายได้เช่นกัน

เส้นทางเหล่านี้อยู่แถบชานเมืองหรือพื้นที่ที่เป็น “ไข่ขาว” ไม่เกี่ยวกับเส้นทางที่ให้สัมปทานแก่เอกชนไปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเมืองหรือพื้นที่ที่เป็น “ไข่แดง” จึงไม่ต้องเสียเงินชดเชยให้เอกชนอีกด้วย

ที่ผ่านมาเราได้รับผลกระทบจากนโยบายที่ไม่เป็นธรรมจากกลุ่มคนชั้นนำแค่ไม่กี่กลุ่ม จนเกิดวาทกรรม “รวยกระจุก จนกระจาย” ซึ่งพรรคการเมืองที่ได้เข้าร่วมรัฐบาลต่างรับรู้ถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับมานานว่า 5 ปี

ผมยก “2 กรณีตัวอย่าง” ขึ้นมาเพราะเป็นเรื่องที่ทำได้เลย และทำได้ทันที เพราะคนที่นำเสนอก็เป็นคนของพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จึงถือเป็นบทพิสูจน์ว่าพรรคการเมืองนั้นยึดโยงกับประชาชนมากแค่ไหน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image