เดินหน้าชน : รธน.‘คนเลี้ยงลิง’

ผลผลิตของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ได้สร้าง “คนเลี้ยงลิง” ขึ้นมา จากคำเปรียบเปรยของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ในฐานะผู้ประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ที่ออกมาเบรกบรรดา 10 พรรคเล็กร่วมรัฐบาลที่ออกมาต่อรองขอเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนฯ และขู่ว่าจะถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาล

คำพูดของ ร.อ.ธรรมนัสที่บอกว่า “ผมเป็นคนเลี้ยงลิง เลยต้องเอากล้วยให้ลิงกินตลอดเวลา ขณะนี้เชื่อว่ากินจนอิ่มแล้วน่าจะพอได้แล้ว” มีนัยยะทางการเมืองและตีแผ่พฤติกรรม ส.ส.กลุ่มนี้ตั้งแต่เริ่มตั้งไข่จัดตั้งรัฐบาล

ซึ่งคำพูดนี้หากพาดพิงไปถึง ส.ส.หรือพรรคการเมืองใดก็สุดแล้วแต่พื้นฐานของบุคคลนั้นๆ ว่าจะตีความว่าเป็นการเหยียบย่ำศักดิ์ศรี ดูถูกเหยียดหยาม หรือเป็นแค่คำพูดเปรียบเปรยที่พูดเล่นๆ กันก็ขึ้นกับฐานความคิดของบุคคลนั้น

แต่พฤติกรรมของบรรดา ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลชุดนี้ ก็คือผลผลิตของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่เริ่มต้นจากสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบพิสดาร และการช่วงชิงจัดตั้งรัฐบาลที่บกพร่องทางจริยธรรม

Advertisement

จึงอย่าแปลกใจเพราะในทันทีที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ ก็มีความเคลื่อนไหวของประชาสังคมและการเมืองที่พยายามผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญในทันทีเช่นกัน

แม้วันนี้จะถูกความพยายามเบี่ยงเบนจากกลุ่มบุคคลและพรรคการเมืองที่ได้ประโยชน์เป็นผลผลิตของรัฐธรรมนูญ ที่พยายามพูดกรอกหูว่า ปัญหาปากท้องของชาวบ้านสำคัญกว่าการแก้รัฐธรรมนูญ

ผมไม่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่ารัฐธรรมนูญสำคัญอย่างไรต่อประเทศชาติ คงต้องอาศัยเนื้อหาสาระจากวงเสวนาในกิจกรรมรณรงค์หาฉันทานุมัติร่วมกันสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญกับปากท้องประชาชน” ที่ ม.ขอนแก่น

Advertisement

อาจารย์บัวพันธ์ พรหมพักพิง อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น สะท้อนความสำคัญของรัฐธรรมนูญอย่างน่าฟังว่า “รัฐธรรมนูญเป็นระบบย่อยหนึ่งในสังคม แต่มีความสำคัญเพราะเป็นกระดูกสันหลังในการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคม คือสิ่งกำหนดว่าใครจะได้ทรัพยากรหรือใครจะเข้าถึงได้”

แต่รัฐธรรมนูญได้สร้างสภาพแวดล้อมขึ้นมาอย่างหนึ่ง ถ้าพูดให้สั้นและง่ายสุดคือการสืบทอดอำนาจ เมื่อรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางจึงทำให้การจัดสรรอำนาจบกพร่องและทำให้เศรษฐกิจกระจุก มันจึงมีความสำคัญที่เราต้องตระหนักในเรื่องนี้

ขณะที่คำอธิบายของอดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจในรัฐบาล คสช. ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ถือเป็นคนกันเองที่เคยร่วมทำงานกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ สะท้อนออกมาไว้น่าสนใจว่า “เป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันจะทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้น เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ทหารกลุ่มหนึ่งสืบทอดอำนาจ หากได้คนเก่งกล้าเป็นผู้นำก็พอไหว แต่นี่ไม่เก่งและไม่กล้าเลยด้วย ความเคยตัวของอำนาจทหารทำให้ทุกอย่างเสียไปหมด”

เช่นเดียวกับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จากทีดีอาร์ไอ สะท้อนความจริงของเศรษฐกิจว่า “หากเราเปิดรัฐธรรมนูญฉบับนี้เรื่องนโยบายของรัฐก็จะเจอกับเรื่องของเศรษฐกิจ ตนคิดว่าที่น่าจะมีปัญหาคือปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวกับการเมือง เช่น กฎหมายข้อบังคับ ปัญหาอำนาจการรวมศูนย์ เหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจฐานรากไม่มีความเข้มแข็ง”

ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตน้อยกว่าประเทศแถบอาเซียนทั้งหมด มีอัตราการเติบโตเพียง 3.4 เปอร์เซ็นต์ แต่ประเทศในแถบอาเซียนเติบโตมากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์เป็นต้นไป สาเหตุที่เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตช้านั้น เกิดจากความเหลื่อมล้ำภายในประเทศที่อยู่ในขั้นวิกฤต คนรวยรวยขึ้น คนจนจนลง

ดังนั้นหากจะสรุปวิกฤตประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ คือความเหลื่อมล้ำที่อยู่ในขั้นวิกฤต คนรวยรวยขึ้น คนจนจนลง เพราะเรามีกระดูกสันหลังที่ผิดปกติ-โค้งงอไม่สมมาตร ก็เพราะตัวรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาเพื่อทหารกลุ่มหนึ่งสืบทอดอำนาจ

ยิ่งเรามาได้ผู้นำที่ไม่เก่งและไม่กล้า ประเทศนี้จึงต้องถอยหลังเข้าคลองลงทุกวัน…

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image