เดินหน้าชน : น่าอดสู

กลายเป็นเรื่องฮือฮาและน่าอดสูอย่างยิ่ง หลังได้เห็นข่าวที่แชร์ภาพในโลกออนไลน์ เป็นภาพเด็กหญิงวัย 15 ปีคนหนึ่ง ถูกตัวแทนลิขสิทธิ์ดำเนินการล่อซื้อจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากประดิษฐ์กระทงขายโดยติดรูปตัวการ์ตูนชื่อดัง

ด้านเด็กหญิงวัย 15 ปี ออกมาเปิดเผยว่า หนูตั้งใจมากที่จะหารายได้พิเศษด้วยตัวเองเพื่อเป็นค่าเล่าเรียน เพราะขณะนี้หนูเรียนอยู่ชั้น ปวช.ปี 1 สาขาการบัญชี ในวิทยาลัยเทคนิคแห่งหนึ่ง เพื่อจะได้ไม่ต้องรบกวนเงินของพ่อแม่ เพราะพ่อก็ทำงานโรงงานมีรายได้ไม่มาก

ทั้งนี้ ช่วงนี้ใกล้ถึงเทศกาลลอยกระทง หนูจึงมีไอเดียที่จะนำขนมปังมาทำกระทงไปขาย และได้โพสต์รูปลงในเฟซบุ๊ก
เพื่อขายกระทง ปรากฏว่ามีลูกค้าติดต่อสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยลูกค้าจะเน้นสั่งลวดลายดอกไม้ คนที่มาติดต่อหนูเขาสั่งเลยว่า ให้ทำกระทงทำเป็นลวดลายการ์ตูน เช่น คุมะ และแมวการ์ฟิลด์ ซึ่งหนูก็ไม่รู้ว่าผิดกฎหมาย หนูจึงได้ทำตามออเดอร์
ของลูกค้า โดยก่อนถึงวันนัดส่งของหนูได้เร่งทำกระทงตั้งแต่เช้า เวลา 08.00 น.จนถึงเวลา 01.30 น.ของอีกวัน เพื่อให้ทันส่งให้ลูกค้า

“หนูถูกล่อซื้อจับลิขสิทธิ์ ทั้งที่ปกติหนูก็ไม่ได้ประดิษฐ์กระทงลวดลายลิขสิทธิ์อยู่แล้ว เพียงแต่ลูกค้ารายนี้เจาะจงให้ตนทำกระทงลวดลายลิขสิทธิ์เพื่อที่จะล่อซื้อ และจับหนูเพื่อเรียกค่าลิขสิทธิ์ หลังจากที่หนูถูกจับแล้ว หนูได้กลับบ้านมาก็ร้องไห้ตลอดทั้งคืน เพราะไม่เคยโดนคดีอะไรที่ร้ายแรงแบบนี้มาก่อน และหนูอยากจะถามกับตัวแทนลิขสิทธิ์ว่าทำไมถึงทำกับหนูแบบนี้”

Advertisement

ขณะที่ในมุมของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อย่าง พ.ต.อ.คเชนท์ เสตะปุตตะ ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา บอกว่า เบื้องต้นทางพนักงานสอบสวนได้ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยจนสุดท้ายตกลงค่าเสียหายกันที่ 5,000 บาท เรื่องดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามกฎหมาย เพราะหากไม่ดำเนินการก็จะเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

สุดท้ายตัวแทนลิขสิทธิ์ได้พูดข่มขู่ให้หาเงินมาเสียค่าปรับเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท สุดท้ายมีการเจรจาค่าเสียหายจบลงเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท

น่าดีใจที่ นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายชื่อดัง เจ้าของเพจ “ทนายคลายทุกข์” ได้ให้ความเห็นทางกฎหมายเพื่อให้สังคมและผู้ตกเป็นเหยื่อได้กระจ่างว่า การกระทำแบบนี้เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เด็กอายุ 15 ไม่สมควรถูกดำเนินคดี แม้กระทั่งกฎหมายเกี่ยวกับเด็กก็ห้ามจับกุมห้ามดำเนินคดีอะไรกับเด็กพวกนี้ ถือว่าเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่ไปหลอกล่อเด็ก กฎหมายลิขสิทธิ์เป็นกฎหมายที่สร้างสรรค์ ต้องใช้ในทางที่สร้างสรรค์ ถ้าไปล่อซื้อไปหลอกให้เขาทำกระทงให้เป็นรูปการ์ตูนที่คุณเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แล้วก็ไปจับ เท่ากับว่าคุณไม่ใช่ผู้เสียหาย คุณคือผู้ใช้ให้เขาไปกระทำความผิด เพราะฉะนั้นเมื่อคุณเป็นผู้ใช้ให้เด็กกระทำความผิด คุณก็ไม่ใช่ผู้เสียหาย คุณก็ไม่สามารถดำเนินคดีไปแจ้งตำรวจได้ ด้านตำรวจก็ไม่สามารถรับแจ้งความหรือลงประจำวันได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลฎีกาได้เคยตัดสินคดีประเภทนี้ไว้แล้ว

Advertisement

นอกจากนี้ พวกตัวแทนลิขสิทธิ์ทั้งหลายเวลาที่รับมอบอำนาจมา เขาให้คุณมาแจ้งความหลังจากนั้นเอาตำรวจไปจับ แล้วตำรวจจะจับได้ก็ต่อเมื่อคาหนังคาเขาหรือความผิดซึ่งหน้า แต่ไม่ใช่ว่าคุณไปล่อซื้อเสร็จ เอาตำรวจไปจับโดยยังไม่มีการแจ้งความมันทำไม่ได้ เป็นความผิดต่อส่วนตัวต้องแจ้งความก่อน ถ้ายังไม่แจ้งความก่อนแล้วไปจับเด็กคนนี้ แล้วก็ไปบังคับให้จ่ายเงินมันก็ “กรรโชก” มีความผิดฐานกรรโชกข่มขู่เด็ก เพื่อจะขอเงิน 50,000 บาท ไม่ให้จะจับกุม การกระทำแบบนี้ถือเป็นการกรรโชก เป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก

อยากฝากสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้สอดส่องตำรวจที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ และพฤติกรรมของเจ้าของ-ตัวแทนลิขสิทธิ์ ก็ต้องคำนึงถึงกฎหมายคุ้มครองเด็กด้วย ก็ฝากไว้ว่า ตัวแทนลิขสิทธิ์ก็มีหน้าที่ไปแจ้งความก่อนถึงจะจับได้ ถ้าไม่แจ้งความลงประจำวันจับอะไรไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้าเด็กอายุ 15 ก็ทำไม่ได้ แล้วถ้าไปล่อซื้อไปใช้ให้เด็กกระทำความผิดคุณไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจจับกุมอะไรเลย กฎหมายลิขสิทธิ์เป็นกฎหมายสร้างสรรค์

หลังจากนี้ ผมอยากเห็นปฏิกริยาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าจะแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดแต่เป็นพฤติกรรมที่มีการร้องเรียนกันมานาน เมื่อทนายออกมาชี้ช่องเช่นนี้ เมื่อชอบอ้าง ม.157 อยากจะรู้ว่าจะเดินหน้าดำเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้องอย่างไร

เช่นเดียวกับบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์จะแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image