เดินหน้าชน : ‘ขุมทรัพย์’นายพล : โดย โกนจา

พรรคอนาคตใหม่กำลังส่งร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกเกณฑ์ทหารเข้าสู่การพิจารณา พร้อมๆ กับแนวทางปฏิรูปกองทัพ เชื่อว่าจะกลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมอีกในเร็วๆ นี้

บังเอิญเปิดอ่านรายงานพิเศษทางเว็บไซต์ ประชาไท ผลงานของ “เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา” หัวเรื่อง “เปิด 6 ขุมทรัพย์กองทัพ (และนายพล) หาเงินจากไหน” ที่แชร์ผ่านมาทางโซเชียลมีเดีย ผนวกกับก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.เปิดทรัพย์สินของนายพลหลายคน ถึงกับตกใจกับตัวเลขทรัพย์สินมหาศาลของคนในกองทัพ

รายงานนี้วิเคราะห์ภาพใหญ่ถึง “เส้นทางเศรษฐี” ของกองทัพไทย นายพลผู้มั่งคั่งในยุครัฐบาล คสช.

สนช.มีทหารชั้นนายพลทั้งที่เกษียณแล้วและยังทำงานอยู่ทั้งสิ้น 143 คนจากทั้งหมด 250 คน คิดเป็นร้อยละ 7.5-9.5 ของจำนวนนายพลทั้งประเทศ

Advertisement

รายงาน ป.ป.ช.ปี 2558 แสดงบัญชีทรัพย์สินของ สนช.ที่ติดยศนายพล บก-เรือ-อากาศ มีรายได้ต่อปีประมาณ 1.92 ล้านบาท 1.95 ล้านบาท 2.09 ล้านบาท แต่เมื่อดูสินทรัพย์รวมทั้งหมดของนายพล บก-เรือ-อากาศ หลังหักหนี้สินแล้วพบว่ามีราว 5.8 พันล้านบาท 2.2 พันล้านบาท และ 1.2 พันล้านบาท

บุตรและคู่ครองของนายพลก็มีความมั่งคั่งจนน่าอิจฉา สินทรัพย์รวมทั้งหมดของคู่สมรสมีทั้งสิ้น 2.7 พันล้าน นายพลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับหนึ่งระบุว่าคู่ครองถือสินทรัพย์ทั้งสิ้น 720 ล้านบาท ทั้งนี้ ร้อยละ 43 ของคู่สมรสที่มีฐานะร่ำรวยที่สุดระบุตัวเองว่ามีอาชีพเป็น “แม่บ้าน” ที่ไม่มีรายได้

คำถามคือ ข้าราชการมั่งคั่งขนาดนี้ได้อย่างไร บางส่วนอาจเป็นมรดก แล้วส่วนที่ไม่ใช่มรดกนั้นมาจากไหน

Advertisement

การเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจของทหารโดยตรง เป็นช่องทางหนึ่งที่เห็นเด่นชัด

เส้นทางเศรษฐี (ของทหาร) นั้นมีอีกหลายแบบ เพื่อหาร่องรอยของคำตอบนี้พบว่า

กระเป๋าที่ 1 งบประมาณ กระทรวงกลาโหมเป็นงบก้อนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นทุกปี งบปี 63 กระทรวงกลาโหมได้รับจัดสรรมากสุดเป็นอันดับที่ 3 อยู่ที่ 233,353.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,226.8 ล้านบาทจากปี 2562 โดยเฉพาะงบในการจัดหาอาวุธมักมีข้อครหาเรื่องความโปร่งใส ซึ่งยกตัวอย่าง กรณีซื้อเฮลิคอปเตอร์ขายให้ไทยแพงกว่าบางชาติทั้งๆ ที่เป็นรุ่นเดียวกัน เป็นต้น

กระเป๋าที่ 2 คลื่นความถี่ ที่ใช้ในการแพร่ภาพกระจายเสียงในระบบวิทยุ โทรทัศน์ จากเดิมกองทัพมี 2 สถานีโทรทัศน์ และสถานีวิทยุ 245 แห่ง

ในยุคทีวีดิจิทัล กองทัพบกก็ยังมีแหล่งรายได้จากสถานีส่งสัญญาณหรือ MUX ที่ทีวีดิจิทัลจะต้องใช้เพื่อแพร่ภาพกระจายเสียงที่อยู่กับ ททบ.5 โดยมีค่าเช่าใช้ในรายการประเภทความคมชัดปกติ (SD) 3.5 ล้านบาท/เดือน และช่องประเภทความคมชัดสูง (HD) 10.5 ล้านบาท/เดือน พบว่ามีช่องที่ใช้ MUX ของ ททบ.5 มีจำนวน 14 ช่อง เมื่อคำนวณพบว่า ททบ.5 ได้เงินค่าเช่า MUX เดือนละ 84 ล้านบาทถือเป็น “เสือนอนกิน” ที่หารายได้โดยไม่ต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่น

กระเป๋าที่ 3 บอร์ดรัฐวิสาหกิจ ทหารนั่งเป็นบอร์ดบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจมานานแล้ว ในปี 2562 พบว่ามีทหารนั่งเป็นกรรมการในบอร์ดอำนวยการทั้งสิ้น 51 คนในรัฐวิสาหกิจ 27 แห่งจาก 55 แห่ง

กระเป๋าที่ 4 เรียกค่าคุ้มครอง การหารายได้ของกองทัพจากการทำหน้าที่การอำนวยความสะดวกการค้าแบบเทาๆ ไม่เป็นทางการ เช่น กรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นคือ พล.ท.มนัส คงแป้น ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนแยกที่ 1 ระนอง ที่มีส่วนรู้เห็น เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือและได้รับประโยชน์จากการลักลอบค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจาในช่วงปี 2555 โดยในปี 2560 ถูกศาลตัดสินจำคุก 27 ปี

กระเป๋าที่ 5 บริษัทเอกชน/มูลนิธิ กองทัพมีที่ทางในธุรกิจที่เป็นทางการและมูลนิธิที่เป็นบ่อบ่มเพาะรายได้และสายสัมพันธ์ทางการเมือง เช่น สนามมวยลุมพินี เวทีมวยชื่อดัง ที่คณะกรรมการบอร์ดบริหารทั้งหมด 15 คน เป็นทหารทั้งหมด

กระเป๋าที่ 6 ที่ดิน ข้อมูลปี 2558 จากงานวิจัยของวิทยาลัยกองทัพบกระบุว่า กองทัพบกมีกรรมสิทธิ์ที่ดินราว 460,000 ไร่ และมีที่ดินที่ครอบครองโดยไม่มีกรรมสิทธิ์มากกว่า 4-5 ล้านไร่ การหารายได้จากที่ดินของกองทัพมักเป็นไปในลักษณะการเก็บค่าเช่าจากรัฐและเอกชนเช่า บางส่วนก็พัฒนาให้เป็นสนามกอล์ฟและสนามกีฬา บางจังหวัดได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการบ่อนพนันแข่งม้า กองทัพเรือเปิดสนามกอล์ฟราชนาวี-พลูตาหลวง เก็บรายได้จากค่าใช้สนามและอื่นๆ

ในช่วง คสช.การหารายได้ของทหารถูกทำให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้นด้วยนโยบายรัฐ อาทิ โครงการพัฒนาการค้าตามแนวชายแดน หรือโครงการอีอีซี ก็อยู่พื้นที่ภายใต้การบริหารจัดการของกองทัพทั้งสิ้น

ผลประโยชน์ของกองทัพยังได้รับการปกป้องจากพรรคพลังประชารัฐ ปีกการเมืองของ คสช. และ ส.ว. 250 คนที่ได้รับแต่งตั้ง ที่พร้อมจะผลักดันและปกป้องผลประโยชน์ของกองทัพในสภาอีกด้วย

รู้หรือยังว่า “เป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คิด”

โกนจา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image