เดินหน้าชน : เสียงสะท้อน

ฉายา “รัฐเชียงกง” และ “อิเหนาเมาหมัด” คือเสียงสะท้อนของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ที่มีต่อรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นอกจากนี้ยังมีอีก 2 โพลที่สำรวจประชาชนเกี่ยวกับความเชื่อมั่นในรัฐบาล

โพลหนึ่ง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับของขวัญปีใหม่ที่ต้องการจากรัฐบาล พ.ศ.2563 ซึ่งสัมภาษณ์ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 5,000 คน

โดยของขวัญปีใหม่ที่ต้องการจากรัฐบาลมากที่สุดคือ การแก้ปัญหาสินค้าอุปโภค-บริโภคราคาแพง ร้อยละ 50.9 รองลงมาคือ การแก้ปัญหาด้านการเกษตร เช่น ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่า และหาตลาดรองรับ ร้อยละ 30.6

Advertisement

ส่วนความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ พบว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นในระดับเชื่อมั่นมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 39.7 เชื่อมั่นปานกลาง ร้อยละ 44.4 ขณะที่ไม่เชื่อมั่นร้อยละ 2.2

อีกโพลหนึ่งคือ “นิด้าโพล” เป็นการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 2,511 หน่วยตัวอย่าง

ผลสำรวจหัวข้อ บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 31.42 คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยให้เหตุผลว่า อยากเห็นคนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารบ้านเมือง มีความคิดที่พัฒนาประเทศและเศรษฐกิจได้ดี และชื่นชอบพรรคอนาคตใหม่เป็นการส่วนตัว

Advertisement

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ตามมาเป็นอันดับ 2 ได้คะแนนร้อยละ 23.74

ขณะที่รัฐมนตรีในรัฐบาล เช่น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ร้อยละ 2.47, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ร้อยละ 1.08

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ได้คะแนนเพียง ร้อยละ 0.04 เท่านั้น

ซึ่งผลสำรวจของ 2 โพลนี้แตกต่างกัน โพลหนึ่งเชื่อมั่น พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล

อีกโพลหนึ่งเชื่อมั่น “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” มากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล

โดยความแตกต่างกันนี้มีคำอธิบายจาก “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่าโพลส่วนใหญ่ที่สำรวจในช่วงที่รัฐบาลบริหารงาน ส่วนใหญ่นายกฯไม่ค่อยได้เป็นที่หนึ่ง และโพลอาจจะถามในกลุ่มเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง เช่น ไปทำในกลุ่มที่สนับสนุน “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ก็อาจจะได้ความนิยมเยอะ

ซึ่งความเชื่อมั่นนี้เป็นไปได้ว่าอาจจะมาจากความชอบหรือไม่ชอบเป็นการส่วนตัว

หรืออาจจะมาจากไม่พอใจการบริหารงานและการแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้สะสมจนกลายเป็นความเบื่อ จึงอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และคาดหวังว่าจะดีขึ้นกว่าเดิม

ซึ่ง “ความเบื่อ” นี้จะปรากฏอยู่ทั่วไปในสังคมออนไลน์ เช่น คลิปประกวดธิดาจำแลง งานเทศกาลข้าวมะลิหอม ประโคนชัย ที่ผู้เข้าประกวดคนหนึ่งตอบคำถามบนเวทีว่า “ถ้าน้องเลือกไปสิงร่างคนคนนึงได้นะ น้องขอเลือกไปสิงร่างนายกรัฐมนตรี นั่นก็คือ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ลาออกจากการเป็นนายกฯ แล้วนำคนดีๆ มาพัฒนาประเทศไทย ขอบคุณค่ะ”

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเจอกับตัวเองที่สถานีขนส่งหมอชิต ระหว่างเป็นประธานรณรงค์ลดอุบัติเหตุปีใหม่ปลอดภัย เมาไม่ขับ โดยมีผู้หญิงคนหนึ่งแสดงออกทางสีหน้า และพยักหน้าเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ถามว่า “เบื่อนายกฯ ใช่ไหม”

เสียงสะท้อนเหล่านี้คือสัจธรรม ว่าเมื่อมีคนรักก็ต้องมีคนเกลียด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image