เดินหน้าชน : สื่อสารยามวิกฤต

โศกนาฏกรรม จ.ส.อ.กราดยิงกลางเมืองโคราช จนมีผู้เสียชีวิต 30 คน และบาดเจ็บ 58 คน สร้างความสะเทือนขวัญและหดหู่ให้กับคนไทยทั้งประเทศ
เหตุการณ์นี้ไม่อยากให้เป็นเพียงไฟไหม้ฟาง หลังเหตุการณ์ผ่านพ้นไปไม่นานก็พากันหลงลืม จนไม่คิดจะหาภูมิคุ้มกันให้สังคม
สิ่งที่พูดกันติดปากคือคำว่า “ถอดบทเรียน” เพื่อหาแนวทาง หรือมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

จากการศึกษาบทเรียนจากต่างประเทศพบว่า การเกิดเหตุการณ์กราดยิงจนทำให้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากในลักษณะนี้ มีโอกาสสูงที่จะเกิดการลอกเลียนแบบได้ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ แม้กระทั่งการกราดยิงในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่ทำงาน และห้างสรรพสินค้า

ผมได้อ่านบทความของ นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล คณบดีวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ โพสต์ผ่านเฟซ
บุ๊ก มีหลายอย่างน่าสนใจ

นพ.บรรจบบอกว่า กรณีทหารคลั่งสังหารหมู่เกิดขึ้นภายหลังกรณีปล้นทองยิงกราดเพียงไม่ถึงเดือน อ่านบทความชิ้นนี้แล้วคุณจะเข้าใจ และรู้ว่าทำไมเขาเรียกร้องกันไม่ให้เผยภาพผลจากความรุนแรง หน้าอาชญากร ประโคมชื่อของเขาบ่อยๆ หรือเรียกเขาอย่างเท่ว่า “หนุ่มคลั่ง…ควงปืนอุกอาจ” เพราะมันจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบภายในเวลาอาจจะสั้นๆ แค่เป็นอาทิตย์

Advertisement

การสังหารหมู่เป็นโรคระบาดชนิดหนึ่ง การยิงกราดสังหารหมู่กำลังเป็นข่าวที่เคยชินมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญเริ่มเข้าใจแล้วว่ามันไม่ใช่แค่เพียงการระเหิดอารมณ์ของบุคคลอย่างเดี่ยวโดด แต่การกระทำแต่ละครั้งได้กลายเป็นพิมพ์เขียวของการ
กระทำต่อๆ ไป

โดยยกเคสที่สหรัฐ การสังหาร 9 ศพที่โรงเรียนชุมชนในโอเรกอน เป็นคัมภีร์อย่างดีในเรื่องนี้ ก่อนทำการกราดยิง มือปืนชื่อคริสโตเฟอร์ ฮาร์เปอร์ เมอร์เซอร์ อายุ 26 ปีได้อัพโหลดวิดีโอเกี่ยวกับกรณีสังหารหมู่ปี 2012 ที่โรงเรียนประถมแซนดีฮุกในนิวทาวน์ คอนเนกติคัตมาดู

มือสังหารที่แซนดีฮุกก็เรียนรู้มาจากการสังหารหมู่ก่อนหน้านั้น ในปี 1999 ที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ในโคโลราโด ซึ่งมีผู้ตาย 13 ศพ

นอกจากนี้ เมื่อผมเข้าไปอ่านในหลายบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ ยังพบผลการศึกษาระบุว่า ยิ่งสื่อนำเสนอรายละเอียดของเหตุการณ์ ภาพใบหน้า ชื่อของฆาตกร รวมทั้งวิธีที่ฆาตกรใช้ ยิ่งละเอียดมากเพียงใด ก็ยิ่งทำให้เกิดเหตุการณ์กราดยิงตามมาได้มากขึ้นเท่านั้น ผ่านกลไกของพฤติกรรมการเลียนแบบ

ยิ่งความตื่นเต้นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้สังคมสนใจเพิ่มสูงขึ้น ยิ่งทำให้คนที่จะเป็นฆาตกรคนต่อไปรับรู้ได้ถึง “ความหอมหวาน” และ “รางวัล” ที่พวกเขาจะได้รับเมื่อลงมือฆ่า

ดังนั้นอย่าให้ความชั่วร้ายนี้ได้มีพื้นที่ในสื่อ ไม่ต้องให้ราคากับเรื่องราวชีวิตของฆาตกร แต่ให้เผยแพร่เรื่องราวของผู้เสียสละ ความกล้าหาญของผู้ที่เกี่ยวข้องและวิธีที่จะป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะนี้ในอนาคต

และอีกบทเรียนหนึ่งคือภาวะผู้นำ เพราะมีการยกคำแถลงของผู้นำหลายประเทศที่ประสบเหตุ ที่ได้รับคำชม คือ จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีหญิงของนิวซีแลนด์ ที่ออกมาพูดถึงเหตุกราดยิงเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ในเมืองไครสต์เชิร์ช ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 50 ราย ที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศ บอกว่า ‘เธอจะไม่มีวันเอ่ยถึงชื่อของฆาตกรเด็ดขาด และประชาชนจะไม่ได้ยินชื่อของฆาตกรจากปากของเธออย่างแน่นอน เขาจะต้องได้รับโทษสูงสุดตามกฎหมายนิวซีแลนด์ และจะไม่ได้ในสิ่งที่เขาต้องการ นั่นคือการโด่งดังเป็นที่รู้จัก บุคคลที่สมควรได้รับการพูดถึง และควรให้เกียรติจริงๆ คือเหล่าคนที่สูญเสียจากเหตุการณ์อันน่าสะเทือนใจครั้งนี้มากกว่า’

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผู้นำประเทศเรา ท่ามกลางความโศกเศร้าของผู้คน แต่ไปแสดงท่า ‘มินิฮาร์ท’ เหมือนลงไปพื้นที่หาเสียง แถมถ้อยแถลงบางช่วงเอาประเด็นการเมือง ความแตกแยกทางการเมือง มาโยงกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น

จนหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า นายกฯประเทศเรา กำลังกลายเป็นคนล้มเหลวต่อการสื่อสารในภาวะวิกฤตหรือไม่

แต่เมื่อเห็นพฤติกรรมต่างๆ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้เข้าใจคำย่อ “ผนงรจตกม” ที่นิสิตนักศึกษาสะท้อนออกมาอย่างถ่องแท้เช่นกัน

โกนจา

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image