เดินหน้าชน : เปลี่ยนอาวุธเป็นยา

เดินหน้าชน : เปลี่ยนอาวุธเป็นยา

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างความโกลาหลวุ่นวายให้กับโลกในทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยเฉพาะวิถีชีวิตของผู้คน จึงเกิดคำถามตามมาว่า เมื่อวิกฤต
โควิด-19 สิ้นสุดลงแล้ว โลกใบนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ผมได้อ่านบทความของ สุพริศร์ สุวรรณิก ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง “โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร หลังวิกฤตโควิด-19 จบลง?” ซึ่งมองการเปลี่ยนแปลงของโลกหลังวิกฤตไวรัสครั้งนี้อย่างน่าสนใจใน 3 ประเด็น

1.การทวนกระแสโลกาภิวัตน์จะมีความเข้มข้นมากขึ้น ความเชื่อของฝ่ายขวาจัดและผู้ไม่สนับสนุนโลกาภิวัตน์ว่าการพึ่งพิงระบบการผลิตระหว่างประเทศมากเกินไปเป็นเรื่องอันตราย จากนี้รัฐบาลประเทศต่างๆ ทบทวนอย่างรอบคอบว่านโยบายเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะพยายามกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโดยไม่พึ่งพารายได้ทางใดทางหนึ่งจนเกินไป อาทิ ไม่พึ่งพาแต่การส่งออกหรือการท่องเที่ยวเท่านั้น

2.ปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะด้านสาธารณสุข จะได้รับการแก้ไขให้ทั่วถึงและเสมอภาคมากขึ้น หลังผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้เราอาจได้เห็นบทบาทที่เพิ่มขึ้นของระบบรัฐสวัสดิการในแต่ละประเทศ

Advertisement

3.สังคมจะก้าวเข้าสู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบวิกฤตครั้งนี้ตอกย้ำให้ร้านค้าและห้างสรรพสินค้าแบบดั้งเดิมต้องเร่งพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพื่อช่วงชิงตลาดจากการค้าขายแบบออนไลน์ คนต้องหันมาใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างจริงจัง สถาบันการศึกษาก็ต้องพัฒนาไปใช้วิธีการสอนแบบออนไลน์อาจพลิกโฉมระบบการศึกษาโลกหลังผ่านพ้นวิกฤตแล้ว ผู้คนอาจจะกลัวการใช้เงินสดหรือธนบัตร เพราะกระดาษอาจเป็นพาหะของเชื้อโรคได้ อาจเป็นปัจจัยทำให้ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

ส่วนประเทศเราก็กำลังเปลี่ยนไปในขณะที่กำลังเผชิญหน้าไวรัสโควิด-19 โดยย่างก้าวแรก คือ การปรับยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุข แม้รัฐบาลเหมือนถูกมัดมือชก หลัง ครม.ได้อนุมัติการบรรจุบุคลากรด้านสาธารณสุขกว่า 4.5 หมื่นคน แต่หลังจากนี้เชื่อว่าการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขจะต้องพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เป็นการเดินหน้าเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพให้กับประชาชน

แต่การปรับโครงสร้างยุทธศาสตร์ประเทศไม่ใช่แค่ใช้วิธีการเดิมๆเช่นแค่ปรับลดงบประมาณจากทุกกระทรวง 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อมาแก้ปัญหาโควิด-19 เป็นการเฉพาะเท่านั้น เพราะหากเรายังมีมุมมองการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายในรูปแบบเดิมๆ คงไม่สามารถแก้ปัญหาโครงสร้างของทั้งหมดได้

ข้อเสนอของ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล นั้นน่าสนใจยิ่ง เพราะมองว่าการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 เป็นการจัดสรรรูปแบบเดิม ไม่ได้จัดความสำคัญหรือเตรียมรับมือกับวิกฤตโควิด-19

ดังนั้นควรเดินหน้า 1.ต้องจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ เปรียบเหมือนกระเป๋าเดินทางที่ต้องเทของเก่าออกให้หมดก่อนแล้วเริ่มจัดใหม่ 2.จัดลำดับความสำคัญใหม่ ควรตั้งเป้าหมายเพื่อความมั่นคงทางด้านสุขภาพและการเยียวยาปากท้องประชาชน 3.ต้องรีดไขมันในงบที่ไม่จำเป็น 4.เพิ่มงบกลาง เตรียมความพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนในอนาคต 5.เร่งปฏิรูประบบราชการยามวิกฤต 6.ทบทวนสัญญางบผูกพันที่รัฐเคยทำมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นซื้ออาวุธ หรือโครงการเมกะโปรเจ็กต์ด้านคมนาคมที่ซ้ำซ้อน และ 7.ต้องรอบคอบยิ่งขึ้นในการก่อหนี้ผูกพันใหม่

ขณะเดียวกันกระแสโลกหลังจากผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไป ย่อมมองเห็นคำตอบว่า ความมั่นคงทางสาธารณสุขนั้นสำคัญกว่าความมั่นคงทางทหาร

ข้อเสนอของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกลที่ว่าควรจัดสรรงบด้านความมั่นคงใหม่ โดยเปลี่ยนอาวุธมาเป็นยารักษาโรค

จึงเกิดคำถามว่า งบประมาณในการเกณฑ์ทหารยังมีความจำเป็นหรือไม่ งบประมาณส่วนนี้สูงถึง 1.49 หมื่นล้านบาท ปีนี้ถ้าเดินหน้ายกเว้นการเกณฑ์ทหารและใช้ระบบอาสาสมัครแทนเป็นปีแรก พร้อมๆ การปรับลดกำลังพลส่วนเกินของกองทัพต้องเดินหน้าอย่างเป็นจริงเป็นจัง

ผมมองว่าหากเอางบก้อนนี้ไปเกลี่ยเป็นเงินเดือนให้บุคลากรสาธารณสุขที่บรรจุใหม่กว่า 4.5 หมื่นคนจะทำให้งบของประเทศมีความสมดุลตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

งบประมาณด้านการจัดซื้ออาวุธยังจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ งบการจัดซื้อเรือดำน้ำอีก 2 ลำกว่า 2.25 หมื่นล้านบาท รถยานเกราะสไตรเกอร์ล็อตที่ 2 ปืนใหญ่และเครื่องบินรบต่างๆ กว่า 16,000 ล้านบาท รวมแล้วทั้งหมดมีมูลค่ากว่า 38,500 ล้านบาท คือ ความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศนี้หรือไม่

วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสปฏิรูประบบงบประมาณใหม่ สร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขเปลี่ยน “อาวุธ” มาเป็น “ยารักษาโรค” แทน

โกนจา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image