เดินหน้าชน: ‘องค์กร’ที่ล้มเหลว

เดินหน้าชน: ‘องค์กร’ที่ล้มเหลว

ในที่สุด ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย โดยการยื่นขอฟื้นฟูกิจการจะดำเนินการ ทั้งศาลล้มละลายไทยและศาลล้มละลายสหรัฐ โดยให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นต่ำกว่า 50% ให้พ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ

หลายคนอาจออกมาร้องไห้ฟูมฟาย ขยายประเด็นว่าหมดสิ้นกันความภาคภูมิใจในสายการบินแห่งชาติ

อย่างไรก็ลองหันไปอ่านทิศทางหลังจากนี้ของการบินไทยใน
เฟซบุ๊กของ นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารธนาคารเกียรตินาคิน อดีตบอร์ดการบินไทย ที่โพสต์ไว้น่าสนใจว่า การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลายนั้น ยังไม่ใช่การปล่อยหรือการยอมล้มละลาย มันเป็นกระบวนการ เพื่อให้ Stakeholders ทั้งหลาย อันได้แก่ ผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ในรูปแบบต่างๆ ทั้งมีและไม่มีหลักประกัน รวมไปถึงพนักงาน ได้มาร่วมตกลงกัน ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร โดยมีเป้าหมายแค่สองเป้า คือ 1.พยายามรักษามูลค่าทางเศรษฐกิจ (economic value) ของกิจการให้มีมากที่สุด ซึ่งในกรณีทั่วไปนั้น มูลค่าจะมากกว่า ถ้าให้กิจการยังดำเนินธุรกิจต่อเนื่องไปได้ ย่อมมีค่ามากกว่าแบ่งขายทรัพย์สินมาก

2.แบ่งปันมูลค่านั้นให้แก่ Stakeholder ทั้งหลายได้อย่างเป็นธรรม ซึ่งตามหลักสากล ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับสิทธิก่อน ถัดไปก็เป็นเจ้าหนี้มีประกัน และตามด้วยเจ้าหนี้ไม่มีประกัน เหลือจึงจะเป็นของผู้ถือหุ้น แต่ใครจะได้เมื่อไหร่ เท่าใดก็เป็นเรื่องที่จะต้องใช้กระบวนการตกลงกัน ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องพึ่งศาล แต่ถ้าเดินต่อไม่ได้จนศาลสั่งให้ล้มละลาย ถึงจะชำระบัญชี จำหน่ายทรัพย์สิน แล้วมาแบ่งกันตามลำดับกฎหมาย

Advertisement

ในการจะฟื้นฟูกิจการ ส่วนมากจำเป็นที่จะต้องใช้เงินเพิ่มเพื่อให้ดำเนินการต่อได้ ดังนั้นคนที่ใส่เงินเพิ่มจึงมักจะมีอำนาจต่อรองสูงกว่า เช่น อาจจะเป็นเจ้าหนี้ที่ลำดับชั้นสูงกว่า มีสิทธิได้คืนก่อนเมื่อกิจการปกติ หรือได้ก่อน แม้สุดท้ายต้องชำระบัญชี หรือมีสิทธิเปลี่ยนหนี้เป็นหุ้นถ้ากิจการดี เป็นต้น

สายการบินชั้นนำของโลกที่มีปัญหา เคยเข้าสู่กระบวนการนี้จำนวนมาก

Pan Am ที่เคยใหญ่ที่สุดในโลก TWA ของอเมริกัน เข้า Chapter11 แล้วไปไม่รอด ล้มละลายไปนานแล้ว

Advertisement

UNITED ที่ 2019 มีกำไรเกือบแสนล้านบาท ก็เคยเข้า Chapter11 ถึงสองครั้งและกลับมาแข็งแกร่งได้อีก

Swiss Air เคยฟื้นฟูจนกลับมาได้เป็นสายการบินแห่งชาติ
สวิสที่ Lufthansa ถือหุ้น 100% แล้วคนสวิสที่อยากถือก็ไปซื้อหุ้น Lufthansa ได้

JAL เจ๊งจนต้องไปตามคุณปู่อินาโมริมาแก้จนกลับมาแข็งแกร่ง ปีที่แล้วกำไรสามหมื่นล้าน

MAS ที่โชคร้ายปีเดียวเครื่องตกไปสองลำ ก็ต้องฟื้นฟูใหญ่ เข้าซบรัฐบาล

ถ้าอยากรู้ต้นตอความล้มเหลวของการบินไทยก็ลองไปอ่าน

เฟซบุ๊กของ ดร.บวรนันท์ ทองกัลยา นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย ที่โพสต์ไว้น่าสนใจว่า ทำไมการบินไทยมาถึงจุดตกต่ำ และกลายเป็นบริษัทที่คนไทยเกลียดชังได้มากมายขนาดนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับการบินไทยวันนี้ไม่แตกต่างอะไรกับที่เกิดขึ้นกับ เจแปนแอร์ไลน์ ในอดีต

ประธานอินาโมริ ผู้ฟื้นฟู Japan Airline ยังเคยกล่าวว่า ท่านเกลียดเจแปนแอร์ไลน์ เกลียดความหยิ่งยะโสขององค์กร ที่แสดงผ่านการให้บริการของพนักงานขององค์กร มาวันนี้ Case ที่เคยเกิดขึ้นที่ Japan Airline กำลังจะเกิดขึ้นที่ไทย วันที่ Japan Airline ล้มละลาย พนักงานบางส่วนยังไม่รู้ว่าบริษัทล้มละลาย นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า องค์กรที่ล้มเหลว เพราะการบริหารคน

JAL มีวัฒนธรรมองค์กรที่เลวร้าย ไม่เอื้อต่อการแข่งขัน ไม่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ประธานอินาโมริได้ทำจนทำให้ Japan Airline กลับมา พ้นจากการล้มละลายภายใน 2 ปี คือ การปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารคน เปลี่ยนวิธีคิดของคนในองค์กร ให้ตระหนักถึงความเสียสละ ประโยชน์ของตัวเอง เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เพื่อประโยชน์ขององค์กร ทำทั้งผู้นำและพนักงานทุกคนในองค์กร

โดยประธานอินาโมริเชื่อว่า วิธีคิดแบบนี้ คือ วิธีคิดของมนุษย์ที่มีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์
ทางแก้ที่สำคัญของการบินไทย ไม่ใช่แค่ปรับโครงสร้างองค์กร กำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ ลดกำลังพล ฯลฯ ตราบใดที่คนในองค์กรยังมีความคิดที่มุ่งเน้นประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่เสียสละตนเองเพื่อองค์กร มีการแสดงออกที่สะท้อนถึง Toxic Culture อย่างที่ ประชาชนคนทั่วไปเห็นอยู่ในขณะนี้

ทางออกของการบินไทยตอนนี้เรื่องบริหารคนเป็นเรื่องสำคัญในลำดับต้นๆ ไม่ใช่แค่ปรับลดกำลังพล แต่เป็นการปรับความคิด ปรับทัศนคติของคนทำงานในการบินไทย ทุกระดับ ตั้งแต่ผู้นำ บอร์ด
ผู้บริหาร พนักงานทุกระดับ

ถึงตอนนี้ พวกท่านต้องเสียสละมากกว่าถวิลหา สิ่งที่เคยมีเคยได้ โทษคนนั้นคนนี้ไปทั่ว จนลืมมองตัวเอง…

โกนจา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image