รวมไทยสร้างชาติกับพลังประชารัฐ(ฮา)

นํ้าพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับ บรรดาพลพรรคพลังประชารัฐที่ดาหน้ากันออกมาอัปเปหิอดีตหัวหน้าและเลขาธิการพรรค ใครเป็นเรือ ใครเป็นเสือ คอการเมืองคิดกันเองนะครับ

สถานการณ์ภายหลังลูกพรรคออกมาขับไสไล่ส่ง ไม่เฉพาะแค่นายอุตตม สาวนายน นายสนธิรัตน์
สนธิจิรวงศ์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล แต่รวมไปถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้ถอนสมอจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีซะ ผู้ที่หนักใจ กลืนไม่เข้า คายไม่ออก คงหนีไม่พ้น พล.อ.ประยุทธ์ จะหาทางออกอย่างไรในการปรับคณะรัฐมนตรีที่จะมีขึ้น

แสดงท่าทีไปแล้วว่าคงเป็นช่วงหลังร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ผ่านการพิจารณา บังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว ซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าสามเดือน ก็ราวกันยายนโน่น

จึงต้องประคับประคองให้อยู่ร่วมกันไปก่อน จะมีเรื่องระหองระแหงเล่นสงครามตัวแทนกันอีกกี่ครั้งก็แล้วแต่ ต้องกล้ำกลืนฝืนทน เพราะพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เพื่อยึดครองความเป็นรัฐบาลเอาไว้ให้นานที่สุด จำเป็นต้องอาศัยฐานเสียง ส.ส.รองรับความอยู่รอดต่อไปอีก

Advertisement

กลุ่มก๊วนเหล่านี้ก็ต้องอาศัย พล.อ.ประยุทธ์ เกาะเกี่ยวความเป็นพรรครัฐบาลให้เหนียวแน่น เพราะไม่มีตัวเลือกอื่นที่มีเงื่อนไขดีกว่า การยึดเก้าอี้ฝ่ายรัฐบาลไว้ก่อนได้ประโยชน์กว่าเป็นฝ่ายค้านแน่นอน

ท่านผู้ทรงเกียรติจึงได้แต่ออกอาการกระฟัดกระเฟียดแสดงละครการเมือง เขย่าไปเรื่อยๆ ไม่กล้าแตกหักถึงขั้นประกาศถอนการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพราะนั่นหมายถึงการฆ่าตัวตายทางการเมือง มีโอกาสตกงานเพราะถูกยุบสภาได้ทุกเมื่อ เว้นเสียแต่ว่า พล.อ.ประยุทธ์เบื่อหน่ายกับสภาพก๊วน กลุ่ม ขอหยุดพักทำหน้าที่ ซึ่งยังไม่มีสัญญาณใดๆ ออกมา

ท่ามกลางสถานการณ์ชักเย่อกันไปมา ประเด็นมีว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายภายใต้สภาวะต้องจำใจจำยอมพึ่งพาอาศัยกันไป อีกด้านหนึ่งก็ขย่มต่อไปเรื่อยๆ นี้ ไม่ได้เป็นผลดีต่อสังคมส่วนรวมเลยแม้แต่น้อย นอกจากได้รู้ไส้รู้พุงของแต่ละฝ่ายที่สาวไส้กันออกมาให้คนดู การบริหารจัดการแก้ปัญหาวิกฤตประเทศทุกด้านภายใต้การทะเลาะเบาะแว้ง แย่งเก้าอี้กันอุตลุด ผลงานจะปรากฏออกมาดีได้อย่างไร

Advertisement

ปัจจัยในการกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหวขึ้นอยู่กับการต่อรองผลประโยชน์ ตำแหน่งแห่งหนที่คิดว่าตัวเองควรจะได้รับ ยิ่งกว่าสาระนโยบายเก่าที่ยังไม่บรรลุและใหม่ที่ไม่มีเวลาค้นคิดให้ตกผลึก

ขอเพียงว่า เก้าอี้ที่ได้เป็นที่พอใจไหม ได้คนที่มีคุณภาพ เหมาะสม หรือไม่เป็นเรื่องของหัวหน้ารัฐบาลจัดการไป

ภายใต้สถานการณ์ที่ว่านี้อีกนั่นแหละ การนำเสนอชุดนโยบายใหม่ที่สอดคล้องกับสภาพประเทศหลังไวรัสโควิด-19 จากพรรคแกนนำรัฐบาลยังไม่ปรากฏอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน แม้กระทั่งการผลักดันนโยบายเดิมที่ยังไม่สำเร็จก็ตาม

ยังจ้องมองไปที่เก้าอี้ที่หมายปองเป็นสำคัญ จะได้มาแค่ไหน จัดสรรกันอย่างไรถึงเหมาะกับความแก่กล้าพรรษาทางการเมืองของตัวเอง ความรู้ ความสามารถ การยอมรับจากทุกแวดวงในสังคมเป็นเรื่องโลกสวย

ทำสวนทางกับหลักการที่นายกรัฐมนตรีประกาศรัฐบาล New Normal รวมไทยสร้างชาติ แนวปฏิบัติสามข้อใหญ่ สำคัญที่สุดคือ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่ใช่แค่รับรู้นโยบายต่างๆ จากการอ่านข่าวทางหนังสือพิมพ์ หรือสื่อออนไลน์เหมือนที่ผ่านๆ มา

หัวหน้ารัฐบาลย้ำหนักแน่น ต่อไปนี้ ประชาชนต้องมีโอกาสมีส่วนร่วม รัฐบาลต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้มากขึ้น

แล้วความจริงเป็นอย่างไร พรรคแกนนำไม่สามารถจัดการภายในให้เกิดการรวมพลังสร้างชาติ เป็นแบบอย่างได้ดังที่หัวหน้ารัฐบาลย้ำนักย้ำหนา
พูดอะไรออกมาพวกเดียวกันยังไม่สนใจให้ความสำคัญ พฤติกรรมกลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

เมื่อหัวไปทางหางไปทาง เน่าในขนาดนี้ ชาวบ้านจะฝากความหวังไว้ได้อย่างไร

การปรับคณะรัฐมนตรีที่กำลังดำเนินไป ผมเสนอว่า น่าสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อตัวบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่เทียบเคียงกับคนเดิม ดูสิว่า ผู้ตอบร้องยี้ หรือ เซย์ เยส พอไปได้ ฝีมือดี มีประสบการณ์ ไม่ฉ้อฉล ทุจริตเชิงนโยบาย

สำรวจก่อนประกาศแต่งตั้งอาจเกิดปัญหาวิ่งเต้นกันวุ่นวายเป็นที่เข้าใจได้อยู่ ทำภายหลังแต่งตั้งแล้วก็ไม่ช้าไปเพราะอย่างน้อยจะได้รับรู้ความคิดชาวบ้านว่า ตอบรับแค่ไหน

ไม่มีผลเชิงบังคับต้องปรับออกก็ตาม แต่เป็นคำเตือนให้ทำหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง ตั้งใจ ซื่อสัตย์ สุจริต และความรู้ ความสามารถเท่าที่มี อย่างเต็มที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image