เดินหน้าชน : ทางเลือกแก้รธน.ž โดย โกนจา

ภายหลังคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น เพราะหากไม่แก้ในมาตราดังกล่าว ก็จะไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนอื่นได้ และหากจะต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ก็อาจจะนำไปสู่การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นติดเงื่อนไข 3 ด่านสำคัญคือ วุฒิสภา ประชามติ และศาลรัฐธรรมนูญ

แค่ยังไม่นับหนึ่ง นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.ออกมาคัดค้านว่า การให้ ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องมีเป้าหมายก่อนว่าต้องการแก้ไขประเด็นใดบ้าง ไม่ใช่ให้ ส.ส.ร.ไปคิดเองตามใจชอบ ถ้าจะตีเช็คเปล่า โดยไม่มีเป้าหมายว่าจะแก้เรื่องใด ส.ว.คงไม่เอาด้วย และจะไม่ร่วมมือเสนอแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการยกเลิก ส.ว.หรือไม่ให้มีอำนาจเลือกนายกฯ คงไม่ยอม

ต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 60 ที่มี อาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มือกฎหมายระดับขงเบ้ง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้แยบยล แก้ยาก ร่างขึ้นมาเพื่อการสืบทอดอำนาจให้ คสช.โดยเฉพาะ

Advertisement

ผมได้อ่านข้อเสนอของ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นั้นน่าสนใจยิ่ง

รศ.ดร.สิริพรรณระบุว่า รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่าการแก้ไขเพิ่มเติม ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือไม่น้อยกว่า 84 เสียง และวาระที่สามซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย ต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินครึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภา คือ ส.ส.+ส.ว.ต้องได้ไม่น้อยกว่า 375 เสียง หมายความว่า นอกจาก ส.ว. 84 คน ที่ให้ความเห็นชอบแก้ไขในวาระแรกแล้ว ต้องมี ส.ส.อีก 291 คน ซึ่งแม้ฝ่ายค้านในปัจจุบันจะมี 212 เสียง แต่ 291 เสียง เป็นตัวเลขที่เป็นไปได้

เพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทันท่วงที แนวทางที่อาจทำได้ คือ แก้ไขวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อปลดล็อกให้การแก้ไขเพิ่มเติมทำได้โดยไม่ต้องรอคอยการยินยอมจาก ส.ว. เป็นเรื่องๆ เนื่องจากเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามหมวด 15 จึงต้องทำประชามติ และอาจต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งจะใช้เวลา 30 วัน

Advertisement

เรื่องเร่งด่วนที่ควรแก้ 2 ประเด็น คือ ที่มาของนายกรัฐมนตรีŽ ควรกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาจากคะแนนเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ไม่ใช่จากรัฐสภาที่มี ส.ว.ด้วย และแก้ไขระบบเลือกตั้ง (2 ประเด็นนี้แก้ได้โดยไม่ต้องทำประชามติ) จะกลับไปใช้ตามรัฐธรรมนูญ 2540 (โดยยกเลิก หรือ ลด เกณฑ์ขั้นต่ำ ลงมาเหลือ 2-3%) หรือจะใช้ระบบผสม MMP ก็ยิ่งดี ทั้ง 2 ระบบ มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ สำหรับ ส.ส.เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ต่างกันที่วิธีคิดจัดสรรที่นั่ง

เมื่อได้รัฐบาลใหม่ สภาผู้แทนราษฎรใหม่ ในระยะเวลาที่ไม่เนิ่นนานเกินรอ จึงค่อยเดินเรื่องแก้รัฐธรรมนูญในมาตราอื่นๆ หรือทั้งฉบับต่อไป ซึ่งมีทางเลือก ดังนี้

1.จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ประสบการณ์รัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้หลายคนฝังใจว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญจะนำมาสู่อำนาจของประชาชนในการสถาปนารัฐธรรมนูญ

แต่ข้อเสียคือ ล่าช้า ส.ส.ร.เป็นใคร มีกระบวนการคัดสรรอย่างไร มีกระบวนการรับฟังความเห็น และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วยวิธีใด และยังมีขั้นตอนการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญอีกหลายฉบับ

แต่หากสังคมมีฉันทามติในประเด็นที่จะแก้ไขอยู่แล้ว การใช้กระบวนการ ส.ส.ร.ก็สามารถทำให้กระชับได้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ก็มาจาก ส.ส.ร.และใช้เวลาเพียงประมาณ 1 ปี ตั้งแต่การแต่งตั้ง ส.ส.ร. การร่างจนถึงการทำประชามติ

2.ค่อยๆ แก้ไขรายมาตรา ด้วยกลไกรัฐสภา ประเทศส่วนใหญ่ใช้วิธีการนี้ เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งใช้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ทำโดยใช้กลไกรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ครั้ง ระหว่าง ค.ศ.1999-2002 เป็นการแก้ไขแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้ฝ่ายหนุนและฝ่ายต้านได้มีเวลาปรับตัว และประนีประนอมทางความคิด

3.ใช้กลไกรัฐสภา และ ส.ส.ร.ผสมกัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 มีการแก้ไขเพิ่มเติม 6 ครั้ง การแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 6 พ.ศ.2539 เปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยการออกเสียงประชามติ

ขณะที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุค 5จี แต่การเมืองไทยต้องย้อนกลับมาถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

สาเหตุก็เพราะเผด็จการทหารและการรัฐประหาร คือ ต้นตอความล้มเหลวของประเทศนั่นเอง

โกนจา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image