เดินหน้าชน : ‘แก้รธน.’ เพื่อชาติ-เพื่อใคร

เดินหน้าชน : ‘แก้รธน.’ เพื่อชาติ-เพื่อใคร

การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 19-20 กันยายนที่ผ่านมา
ถ้าจะเถียงกันเรื่องจำนวนผู้ร่วมชุมนุมว่ามากันหลักหมื่น หรือหลักแสน เพื่อนำไปอ้างความชอบธรรมของแต่ละฝ่าย

คงเถียงกันไม่จบ แต่หลักใหญ่ใจความที่หลายฝ่าย โดยเฉพาะผู้มีอำนาจจะต้องฟังให้ได้ยินด้วยท่าที และการตอบรับอย่างจริงใจ

นั่นคือ ข้อเรียกร้องหลักทั้ง 3 ข้อ คือ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และ 3.นายกรัฐมนตรีต้องลาออก หรือยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

3 ข้อเรียกร้องที่กลุ่มผู้ชุมนุมส่งเสียงเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน ถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ที่พอจะช่วยกันดึงฟืนออกจากกองไฟ

Advertisement

ไม่ทำให้การชุมนุมขยายวงกว้างจนสถานการณ์บานปลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายไม่อยากให้เกิดขึ้น

คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560Ž ขณะนี้มีญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอเข้าสู่ระเบียบวาระของการประชุมรัฐสภา

ในวันที่ 23-24 กันยายนนี้แล้ว 6 ญัตติ โดยญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่หลายฝ่ายประเมินว่าพอจะเป็นไปได้ ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา

คือ การแก้ไข มาตรา 256 และให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) เข้ามาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เพราะมาจากการเสนอแก้ไขของทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน แม้จะมีข้อถกเถียงถึงที่มาของ ส.ส.ร.

ว่าจะให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด หรือเลือกตั้งบางส่วนผสมกับการคัดเลือกตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ให้เข้ามาทำหน้าที่ ส.ส.ร. 200 คน

เรื่องที่มาของ ส.ส.ร. ถ้าทุกฝ่ายที่มีความจริงใจ ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้จริง คงไม่ยากที่จะพูดคุยและหาข้อสรุปร่วมกัน

แต่ประเด็นที่ทั้ง 3 ฝ่าย คือ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะต้องพูดคุย เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน

ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะให้ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องใด เดินหน้าต่อไปได้ เพราะท่าทีของ ส.ว.ในขณะนี้

ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในญัตติใด แม้ ส.ว.บางคนจะโชว์จุดยืนยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

รวมทั้งตัดอำนาจของ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ให้กลับไปสู่กลไกของระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ขณะที่ ส.ว.บางคน ยังคงยืนกรานในจุดยืนว่ายังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเสียงเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม

จะไม่มีผลต่อการตัดสินใจโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยิ่งรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระแรก

จะต้องมีเสียงของ ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ให้ความเห็นชอบด้วย หาก ส.ว.ไม่ร่วมด้วยตั้งแต่ในขั้นรับหลักการ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอันจบเห่

ในวันที่ 24 กันยายนนี้ ช่วงโหวตญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะได้เห็นกันว่าผู้ทรงเกียรติในรัฐสภา จะตัดสินใจเพื่อชาติ หรือเพื่อใคร

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image